วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ออกเสียงตัวพยัญชนะให้ถูก ภาค 1

ออกเสียงตัวพยัญชนะให้ถูก ภาค 1

 

เสียงพยัญชนะหลายๆ ตัวเราออกเสียงผิดๆ กันมานานจนเคยชิน ถ้าจะพูดกับฝรั่งให้เข้าใจก็ต้องมาแก้ไขกันก่อนครับ

 

เริ่มจากตัว G ตัวนี้ออกเสียงเป็น "" นะครับ ไม่ใช่ "" ตัวอย่างเช่น คนชื่อ George เราก็ต้องเรียกเขาว่า "จอร์จ" ไม่ใช่ "ยอร์จ" หรือ gymnastics ก็ต้องออกเสียงเป็น จิมนาติกส์

สังเกตนะครับ ศัพท์ภาษาอังกฤษที่มีมากกว่าหนึ่งพยางค์นั้น ฝรั่งเขาจะออกเสียงบางพยางค์หนักกว่าพยางค์อื่นๆ ที่เรียกกันว่าการ Stress เสียงนั่นแหละครับ ดังนั้นพยางค์ที่เราออกเสียงหนักกว่าพยางค์อื่นผมจะขีดเส้นใต้ตรงพยางค์นั้นให้เราสังเกตง่ายๆ

 

ต่อไปตัว J ครับ ตัวนี้ออกเสียงเป็น "" เช่นกัน ดังนั้น jeans ฝรั่งเขาออกเสียงเป็น จีนส์นะครับ ไม่ใช่ยีนส์ หรือ jam ที่เราทากินกับขนมปังก็ต้องออกเสียงเป็น แจม หรือคนชื่อ Jack ก็ต้องออกเสียงเป็น แจ๊ค หรือเวลานักมวยออกหมัด jab นั้น ที่ถูกต้องคือ แจ๊บ ไม่ใช่ แย๊บ ที่เราเคยชินนะครับ

 

มาถึงตัว H กันบ้าง ตัวนี้ออกเสียง "เอช" นะครับ ไม่ใช่ เฮช หรือ เฮชชึ่ล ดังนั้นช่อง HBO ที่ออกอากาศทางทรูวิชั่นนั้นก็ต้องออกเสียงเป็น เอชบีโอครับ

 

ตัว L และ R โดยตัว L ออกเสียงเหมือน "" ก็ถูกแล้วครับ

ส่วนวิธีออกเสียงตัว R มี 2 แบบ แบบที่ 1 คือ

 

1.     ห่อปากให้เล็กลง เหมือนกำลังจะจูบใครสักคน

2.     ลิ้นไม่ต้องทำอะไรเลยครับ ที่สำคัญอย่ากระดกคืออย่าเอาลิ้นแตะเพดานปาก

3.     ปล่อยเสียงออกมาครับ

แบบที่ 2 ออกเสียงคล้าย (แต่ไม่เหมือน) ร คือ ห่อลิ้นขึ้นแต่ไม่ต้องชนเพดานปาก และไม่ต้องกระดกลิ้นระรัวเหมือน ร นะครับ แล้วค่อยออกเสียง ใครถนัดแบบไหนก็ใช้วิธีนั้นครับ

 

ปิดท้ายด้วยตัว Z

เริ่มต้นออกเสียงเหมือนตัว S ครับ แล้วค่อยๆ เพิ่มเสียงจากลำคอจนรู้สึกศรีษะสั่น

แถมนิดหนึ่งอักษรตัวนี้ไม่ใช่อ่านว่าแซทนะครับ อ่านคล้าย "ซี" แต่ว่าเพิ่มเสียงจากลำคอจนรู้สึกศรีษะสั่น ก็เป็นอันใช้ได้ครับ

 

เอาล่ะครับ ลองซักซ้อมกันดูนะครับ อ่านเฉยๆ ไม่ได้ช่วยอะไรครับ กลับบ้านยืนหน้ากระจกแล้วลองซ้อมออกเสียงดู พูดออกมาให้ตัวเองได้ยินนะครับ อย่าไปซ้อมในใจเหมือนเลขคณิตคิดในใจนะครับ โชคดีขอให้เป็นของคนฝึกครับ

 

 

Chatchaphat Tengsan

Booth Sales

 

ทำเงิน 30000 ให้เป็น 1 ล้าน ในเวลา 1 ปี อย่างถูกกฎหมาย

จงแสดงวิธีทำธุรกิจ (ถูกกฏหมาย) ที่จะทำให้เงิน 30000 บาท เพิ่มเป็น 1 ล้านบาทในเวลา 1 ปีวิธีทำ1) เอาเงิน 30000 บาทไปซื้อที่ดินเปล่า 1 ไร่2) ขุดดินในพื้นที่ 1 ไร่นั้นเอาไปขาย โดยขุดลึก 5 เมตร โดยดำเนินการจ้างผู้รับเหมาวิ่งดินเข้ามาลงรถขุดและวิ่งส่งดินไปถม เราเป็นเจ้าของบ่อขายดินอย่างเดียวคิดปริมาณดินที่พื้นที่ 1 ไร่มี = 1600 ตรม x ลึก 5 ม. = 8000 ลบม(ปริมาณดินนี้ประเมินคร่าว ๆ ซึ่งความจริงจะได้น้อยกว่านี้เล็กน้อย เพราะต้องขุดตี slope ขอบบ่อให้เอียงไม่เช่นนั้นบ่อจะถล่ม)3) รถสิบล้อมีปริมาตรบรรทุกดิน กว้าง x ยาว x สูง = 3 x 6 x 2 = 36 ลบม เราขายดินคันละ 300 บาท4) เราจะขายดินได้ = (8000/36) x 300 = 66667 บาท คิดเป็นเลขกลม ๆ 60000 บาท เพราะชดเชย 6667 หายไปตรงดินที่ขุดไม่ได้ตรงบริเวณพื้นที่ขอบในข้อ 2)5) คิดระยะเวลาขุดดิน 1 ไร่ ใช้เวลา 1 อาทิตย์ ดังนั้น 1 อาทิตย์ จ่ายไป 30000 จะได้เงินกลับมา 60000 บาท6) ย้อนกลับไปทำข้อ 1) ใหม่ เอาเงิน 60000 บาท ซื้อที่ 2 ไร่และขายดินซื้อครั้งที่ 1 จำนวน 1 ไร่ ขุดดินขาย ได้เงินกลับมา 60000ซื้อครั้งที่ 2 จำนวน 2 ไร่ ขุดดินขาย ได้เงินกลับมา 120000ซื้อครั้งที่ 3 จำนวน 4 ไร่ ขุดดินขาย ได้เงินกลับมา 240000ซื้อครั้งที่ 4 จำนวน 8 ไร่ ขุดดินขาย ได้เงินกลับมา 480000ซื้อครั้งที่ 5 จำนวน 16 ไร่ ขุดดินขาย ได้เงินกลับมา 960000ซื้อครั้งที่ 6 จำนวน 32 ไร่ ขุดดินขาย ได้เงินกลับมา 1920000จำนวนไร่ทั้งหมดที่ซื้อ = 1+2+4+8+16+32 = 63 ไร่ถ้าผู้รับเหมามีรถขุด 1 คัน ขุดได้อาทิตย์ละ 1 ไร่ (ซึ่งนับว่าช้ามาก) จะใช้เวลา 63/4 ประมาณ 16 เดือนสรุป เริ่มต้นใช้เงิน 30000 บาท ใช้เวลา 16 เดือน ได้เงินกลับมา 1.92 ล้าน กับที่ดินเปล่า 63 ไร่ที่เป็นบ่อ ซึ่งสามารถต่อยอดโดยการทำบ่อนั้นเป็นบึงตกปลาหรือสร้างรีสอร์ทได้

10 ความแตกต่าง ระหว่าง คนรวย กับ คนชั้นกลาง

ผมได้อ่านหนังสือเล่มเล็ก ๆ เล่มหนึ่งเขียนโดย Keith Cameron Smith เรื่องความแตกต่างที่โดดเด่น 10 ข้อ ระหว่างคนรวยกับคนชั้นกลาง และเห็นว่ามันมีความเป็นจริงอยู่พอสมควรจากการสังเกตของผม ดังนั้น จึงขอนำมาเผยแพร่เพื่อที่ว่าเราจะได้รู้ว่าเราอยู่ในด้านไหนของสังคมและจะต้องทำอย่างไรเพื่อที่ว่าเราจะได้ย้ายจากการมีแนวโน้มที่จะเป็นคนชั้นกลางสู่การเป็นคนรวยความแตกต่างข้อแรกก็คือ เศรษฐีนั้นคิดยาวแต่คนชั้นกลางคิดสั้น ว่าที่จริงคนที่คิดสั้นที่สุดก็คือคนจน พวกเขามักจะคิดอะไรแบบวันต่อวันทำนองหาเช้ากินค่ำ คนชั้นกลางนั้นมักจะคิดเป็นเดือนต่อเดือน นั่นคือคิดถึงวันเงินเดือนออก แต่คนรวยจะต้องคิดยาวเป็นปี ๆ หรือเป็นสิบ ๆ ปี ในใจของคนจนนั้น เขามักคิดแต่เฉพาะเรื่องของความอยู่รอดเป็นหลัก ในขณะที่คนชั้นกลางคิดถึงเรื่องความสุขสบายจากการจับจ่ายใช้สอยสินค้า ส่วนคนรวยนั้น เป้าหมายของพวกเขาชัดเจน เขาต้องการความเป็นอิสระทางการเงิน การคิดยาวนั้นมีพลังมหาศาล เพราะมันจะทำให้เขาอดออมและลงทุนระยะยาวซึ่งจะทำให้เงินงอกเงยแบบทบต้นเป็นเวลานาน และนี่คือสูตรสำคัญที่สุดในการที่จะทำให้คนมั่งคั่งข้อสอง คนรวยพูดเกี่ยวกับเรื่องไอเดีย คนชั้นกลางพูดเกี่ยวกับสิ่งของ และคนจนพูดถึงเรื่องของคนอื่น นี่คงไม่ได้หมายถึงว่าคนรวยไม่พูดเกี่ยวกับเรื่องของสิ่งของหรือคนอื่น แต่หมายถึงว่าคนรวยจะพูดถึงเรื่องของคนอื่นน้อยกว่าคนจนและมักจะเป็นคนที่มีแนวความคิดดี ๆ หรือมีมุมมองต่าง ๆ มากกว่าคนชั้นกลางและคนจน เบื้องหลังของนิสัยในเรื่องนี้คงอยู่ที่ว่า คนรวยนั้นมักจะมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าคนจนซึ่งมักจะชอบ “ซุบซิบนินทา” เป็นนิจสิน ในขณะที่คนชั้นกลางอาจจะเน้นการทำงานประจำ ชอบพูดถึงเรื่องรถยนต์ ดนตรี การพักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้นข้อสาม คนรวยยอมรับการเปลี่ยนแปลง คนชั้นกลางต่อต้านการเปลี่ยนแปลง คนชั้นกลางรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงจะคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ที่ตนเองเคยชิน ในขณะที่คนรวยนั้นคิดว่าการเปลี่ยนแปลงอาจนำมาซึ่งชีวิตที่ดีกว่า เขาคิดว่าในการเปลี่ยนแปลงนั้นมักมีโอกาสที่เขาอาจจะฉกฉวยได้ เบื้องหลังนิสัยนี้อาจจะมาจากการที่คนรวยมีความมั่นใจสูงกว่าคนชั้นกลางที่มักจะกลัวว่าตนเองจะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งใหม่ ๆ ได้ข้อสี่ คนรวยกล้ารับความเสี่ยงที่ได้มีการพิจารณาและไตร่ตรองดีแล้ว คนชั้นกลางกลัวที่จะรับความเสี่ยง นี่เป็นนิสัยที่เป็นจุดอ่อนมากที่สุดของคนชั้นกลางในความเห็นของผม คนที่ไม่ยอมรับความเสี่ยงเลยนั้นจะพลาดที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีโดยสิ้นเชิง ในขณะที่คนที่กล้ารับความเสี่ยงอย่างที่ได้มีการศึกษามาเป็นอย่างดีจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้โดยที่ความเสี่ยงจริง ๆ นั้นจะมีน้อยมาก ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือ คนชั้นกลางส่วนใหญ่นั้นมักจะกลัวการลงทุนในหุ้นหรือตราสารการเงินที่มีความผันผวนของราคาโดยที่เขาไม่พยายามศึกษาว่าในระยะยาวแล้วมันอาจจะมีความคุ้มค่ากว่าการฝากเงินในธนาคารมาก ในอีกมุมหนึ่ง คนที่กล้ารับความเสี่ยงอย่าง “บ้าบิ่น” เช่นคนที่เล่นหุ้นวันต่อวันเองก็ไม่ใช่นิสัยของคนรวย คนรวยนั้นจะต้องรับความเสี่ยงเฉพาะที่มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วข้อห้า คนรวยเรียนรู้และเติบโตตลอดชีวิต คนชั้นกลางคิดว่าการเรียนรู้จบที่โรงเรียน นิสัยการเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ นี้ ผมคิดว่าเป็นหัวใจเศรษฐีจริง ๆ เพราะในความรู้สึกของผมเอง การเรียนรู้จากโรงเรียนเป็นเพียงพื้นฐานที่เรานำมาศึกษาต่อด้วยตนเองได้ และเวลาหลังจากการเรียนในโรงเรียนนั้นยาวมากเป็นหลายสิบปี ดังนั้น ความรู้ส่วนใหญ่จึงควรที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่เราเรียนจบจากโรงเรียน โดยนัยของข้อนี้ คนรวยจึงน่าจะมีนิสัยรักการอ่านหรือการหาความรู้ต่อไปเรื่อย ๆ ในขณะที่คนชั้นกลางนั้น พอเรียนจบก็มักจะไม่สนใจอ่านหนังสือหรือหาความรู้ใหม่ ๆ และความรู้ที่ผมคิดว่าคนชั้นกลางพลาดไปเพราะไม่มีการสอนในโรงเรียนก็คือ ความรู้ทางด้านการเงินที่คนรวยมักจะศึกษาต่อเพราะเห็นถึงความสำคัญและอาจนำไปสู่ความร่ำรวยได้ข้อหก คนรวยทำงานเพื่อหากำไร คนชั้นกลางทำงานเพื่อจะได้ค่าจ้าง คนรวยมองว่านี่คือหนทางที่จะทำให้รวยได้มากกว่าแม้ว่าจะมีความเสี่ยง ในขณะที่คนชั้นกลางนั้นมักจะไม่กล้าเสี่ยงและอาจจะมีความคิดสร้างสรรค์น้อยกว่า จึงมุ่งไปที่การหางานที่จะมีรายได้แน่นอน แต่รายได้จากการใช้แรงงานของตนเองนั้น มีน้อยคนที่จะทำให้ตนเองรวยได้ข้อเจ็ด คนรวยเชื่อว่าพวกเขาจะต้องใจบุญสุนทาน คนชั้นกลางคิดว่าพวกเขาไม่มีปัญญาที่จะทำบุญ ข้อนี้ผมเองคงไม่มีคอมเม้นท์อะไร ส่วนหนึ่งผมเองก็ไม่แน่ใจเนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องของแต่ละคนที่ไม่ค่อยบอกหรือรู้กันยกเว้นกรณีที่เป็นการบริจาคใหญ่ ๆ อย่างกรณีของบัฟเฟตต์หรือบิลเกตข้อแปด คนรวยมีแหล่งรายได้หลากหลาย คนชั้นกลางมีเพียงหนึ่งหรือสองแหล่ง ข้อนี้ก็เช่นกัน ผมเองไม่แน่ใจว่าคนรวยมีรายได้จากหลายแหล่งเพราะรวยแล้วจึงไปลงทุนในทรัพย์สินหลาย ๆ อย่าง หรือมีทรัพย์สินหลายอย่างจึงทำให้รวย แต่ที่ผมเห็นชัดเจนก็คือ คนชั้นกลางนั้น มักไม่ลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงทำให้รายได้มักจะมาจากเงินเดือนเป็นหลักข้อเก้า คนรวยเน้นการเพิ่มขึ้นของความมั่งคั่งของตนเอง คนชั้นกลางเน้นการเพิ่มของเงินเดือน เป้าหมายของคนรวยนั้นอยู่ที่ว่าตนเองมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหนโดยมองที่ภาพรวม ดังนั้น ถ้าเขามีหุ้นอยู่ การที่หุ้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเขาก็มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นโดยที่เขาไม่ต้องเสียภาษี แต่คนชั้นกลางพยายามทำงานเพื่อให้มีเงินเดือนสูงขึ้นแต่เขาอาจจะลืมไปว่าเขาจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นด้วย สรุปก็คือ คนรวยเน้นการลงทุนใช้เงินทำงานแทนตนเอง คนชั้นกลางเน้นการใช้แรงงานของตนเองสุดท้าย ข้อสิบ คนรวยชอบตั้งคำถามที่เป็นบวกและสร้างกำลังใจ เช่น ฉันจะสร้างรายได้เป็นเท่าตัวในปีนี้ได้อย่างไร? ในขณะที่คนชั้นกลางชอบตั้งคำถามที่เป็นลบและเสียกำลังใจเช่น จะหาเงินมาจ่ายหนี้ค่าบัตรเครดิตเดือนนี้ได้อย่างไร ?และนั่นก็คือความแตกต่าง 10 ข้อระหว่างคนรวยกับคนชั้นกลางที่มีคนตั้งข้อสังเกตไว้ ซึ่งผมเชื่อว่าส่วนใหญ่น่าจะเป็นจริง แน่นอน คนรวยบางคนก็มีคุณสมบัติที่เป็นแบบคนชั้นกลาง และคนชั้นกลางจำนวนมากก็มีนิสัยแบบคนรวย แต่ถ้าเราอยากรวย ผมคิดว่า การยึดนิสัยแบบคนรวยน่าจะทำให้เรามีโอกาสมากกว่า

พรรคต่อต้านทุนและการรวมกำลังแนวร่วมในฝรั่งเศส

ปิยมิตร ลีลาธรรม
ความพ่ายแพ้ของกลุ่มการเมืองปีกซ้ายต่อการชิงชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสเมื่อกลางปี ค.ศ.2007 ทำให้กลุ่มปีกซ้ายปฏิวัติอย่างพรรคสันนิบาตคอมมิวนิสต์ปฏิวัติ (Ligue communiste révolutionnaire : LCR) สรุปบทเรียนสำคัญว่าจะต้องสร้างการรวมตัวของพันธมิตรที่ต่อต้านทุนนิยมอย่างกว้างขวางเพื่อนำมวลชนเข้าต่อสู้กับรัฐบาลของประธานาธิบดีซาร์โกซี (Nicolas Sarkozy) ที่ชนะการเลือกตั้ง
ถัดมาในปลายปีเดียวกัน เกิดการนัดหยุดงานครั้งสำคัญที่เขย่ารัฐบาลซาร์โกซีจนถอยร่นไปพร้อมกับนโยบายเสรีนิยมที่รัฐบาลพยายามจะผลักดัน จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2008 พรรค LCR เรียกร้องการรวมตัวจัดตั้งพรรคต่อต้านทุนนิยมขึ้นเพื่อรวบรวมกำลังผู้ต่อต้านรัฐบาลซาร์โกซีเข้าไว้ด้วยกัน ก้าวสำคัญนี้ทำให้ประเด็นการสร้างพรรคและนโยบายการรวมกำลังแนวร่วมเป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้สำหรับขบวนการภาคประชาชนของสังคมไทยที่ต้องเผชิญกับการกลับมาของพรรคไทยรักไทยในรูปการจัดตั้งใหม่เป็นพรรคพลังประชาชนที่ครองเสียงข้างมากในรัฐสภา รัฐบาลสมัครที่เป็นนอมินีของอดีตนายกฯ ทักษิณและอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยอยู่ในขณะนี้
สถานการณ์สร้างพรรค
บทเรียนจากความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งของพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสชี้ให้ LCR เห็นว่ามีผู้คนจำนวนมากต่อต้านซาร์โกซีและออกไปใช้สิทธิ์เลือกพรรคที่เลวน้อยกว่าอย่างพรรคสังคมนิยม (Parti socialiste) ทำให้ซาร์โกซีชนะการเลือกตั้งรอบสุดท้ายเหนือพรรคสังคมนิยมด้วยคะแนนเสียงเพียงร้อยละ 53.06 และยังแสดงให้เห็นแนวโน้มที่การเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลซาร์โกซีกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เนื่องจากรัฐบาลนี้มาพร้อมกับหลักนโยบายของ MEDEF (Mouvement des entreprises de France) องค์การนายจ้างที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส
การเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลซาร์โกซีกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ LCR คาดการณ์ไว้นั้นปรากฏเป็นจริง การนัดหยุดงานเพื่อต่อต้านนโยบายเสรีนิยมใหม่โดยเฉพาะ แผนการตัดทอนบำเหน็จบำนาญของรัฐบาลซาร์โกซีในวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 นั้น กล่าวได้ว่ายิ่งใหญ่พอๆ กับเมื่อคราวปี 1995 เลยทีเดียว โดยมีผู้เข้าร่วมสำแดงพลังรวมถึง 7 แสนคน ในการประท้วง 148 แห่งทั่วประเทศ เช่น 70,000 คนที่ปารีส 60,000 คนที่มาร์แซย์ 35,000 คนที่ตูลูส 30,000 คนที่บอร์โดซ์ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวอื่นที่สำคัญ ได้แก่ การนัดหยุดงานที่เขตอุตสาหกรรม Yoplait ภายใต้การนำของสมาพันธ์แรงงานระดับชาติอย่าง CGT (Confédération générale du travail) เพื่อเรียกร้องให้เปิดการเจรจาต่อรองเรื่องค่าจ้างและปัญหาค่าครองชีพ การเดินขบวนประท้วงของนักเรียนและนิสิตนักศึกษาประมาณ 40,000 คน เพื่อสนับสนุนการประท้วงของคนงานรัฐวิสาหกิจและเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายที่จะทำให้สถานศึกษากลายเป็นแหล่งธุรกิจ การเข้าร่วมประท้วงของครูในวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมศึกษาจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด โอลิวีเย เบซองซีโนต (Olivier Besancenot) ผู้นำของ LCR ประเมินการสำแดงพลังครั้งนี้ว่า เป็นการรวมพลังต่อสู้ที่กดดันอย่างไม่หยุดยั้ง จนกว่ารัฐบาลต้องตอบสนองตามที่ผู้ประท้วงเรียกร้อง เช่นเดียวกับการประท้วงของคนงานรัฐวิสาหกิจในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1995 [1]
สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า มวลชนคนงานฝรั่งเศสยังคงมีพลังต่อต้านนโยบายเสรีนิยมใหม่ของซาร์โกซีและเป็นฐานมวลชนที่ต้องการการจัดตั้งรวมกำลังต่อสู้อย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น ฉะนั้น เพื่อช่วงชิงมวลชนให้ตีตัวออกจากความนิยมในพรรคสังคมนิยมซึ่งเป็นพรรคที่ปลิ้นปล้อนทางการเมืองและฉวยโอกาสเอียง “ซ้าย”และ “ขวา” เพียงเพื่อให้พรรคได้ร่วมรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลทางการเมืองในระบบเลือกตั้งอย่างสำคัญ พร้อมๆ ไปกับการต่อต้านรัฐบาลซาร์โกซีจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองที่คอยเกื้อหนุนการเคลื่อนไหวนั้น โดยเป็นพรรคต่อต้านทุนนิยมที่เปิดกว้างและมีหลักนโยบายที่เป็นตัวของตัวเองต่างไปจากพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส
ขณะเดียวกัน เมื่อเทียบกับบรรดาพรรคปีกซ้ายอื่นๆ นอกจากพรรคสังคมนิยมด้วยกันแล้ว พรรค LCR ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งรอบแรก คือร้อยละ 4.08 ซึ่งสูงกว่าคะแนนของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่สนับสนุนโดยพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส (Parti communiste français: PCF) ถึงสองเท่า สิ่งนี้สะท้อนการพัฒนาของพรรค LCR ที่มาถึงขั้นตอนสำคัญในการขยายการจัดตั้งองค์กร และที่สำคัญที่สุดก็คือ ความปั่นป่วนและความแตกต่างทางความคิดของกลุ่มการเมืองปีกซ้ายและกลุ่มต่างๆ ในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมภายหลังการเลือกตั้ง อันเรียกร้องการแก้ไขให้กลับมาสู่การรวมกำลังแนวร่วมเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลซาร์โกซีด้วยเค้าโครงการหรือหลักนโยบายที่ต่อต้านทุนนิยม
สิ่งนี้จึงเป็นที่มาของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17 ของ LCR เมื่อวันที่ 24-27 มกราคม 2008 ตัวแทนสมาชิกพรรคจำนวน 313 คน เข้าร่วมประชุมเพื่อประเมินผลการทำงานของกลุ่มและสถานการณ์ทางการเมือง ประเด็นสำคัญที่ที่ประชุมหารือกันอย่างกว้างขวางก็คือ โครงการจัดตั้งพรรคต่อต้านทุนนิยม โดยแม้จะยังมีประเด็นการประเมินหลายแง่มุม เช่น คำนิยามของ “พรรคต่อต้านทุนนิยม” ขอบเขตการดำเนินงานทางการเมืองที่จำเป็น วิธีการบรรลุถึงสิ่งนี้ การแสวงหากลุ่มการเมืองอื่นที่มีศักยภาพมาเข้าร่วม ระยะเวลาที่จะปฏิบัติให้เกิดผล เป็นต้น สุดท้ายที่ประชุมก็เห็นชอบที่จะดำเนินการจัดตั้งพรรคนี้ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 81.2 ขณะที่มีเสียงค้านร้อยละ 14.8 และงดออกเสียงร้อยละ 4 ของผู้แทนทั้งหมด
สาระสำคัญของเสียงส่วนใหญ่ปรากฏในแถลงการณ์ว่าด้วยพรรคต่อต้านทุนนิยม ซึ่งมีประเด็นสำคัญสรุปได้ดังนี้คือ พรรคนี้จะเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมการเคลื่อนไหวรวมตัวของมวลชนคนงานเพื่อต่อสู้เปลี่ยนแปลงดุลอำนาจ โดยช่วยตระเตรียมการอภิวัฒน์สังคมอย่างถึงรากถึงโคน นั่นคือ ยุติระบบทุนนิยมกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในปัจจัยการผลิต และการทำลายโลกและธรรมชาติ แล้วแทนที่ด้วยระบบสังคมที่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้ ขจัดการกดขี่ขูดรีดทุกรูปแบบที่ตั้งอยู่บนเงื่อนไขได้เปรียบเชิงชนชั้น เพศ หรือเผ่าพันธุ์ สังคมที่เป็นประชาธิปไตยไม่ได้หยุดอยู่แค่การเลือกตั้ง หากแต่ทุกคนต้องสามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจ
ยิ่งไปกว่านั้น พรรคนี้ปฏิเสธที่จะร่วมมือกับระบบทุนนิยม โดยเป็นพรรคอิสระเป็นตัวของตัวเองที่แตกหักกับทุนนิยมและสถาบันการปกครองของระบบนี้ และสนับสนุนให้ประชาชนนำการเคลื่อนไหวของตนเองในฐานะผู้ที่จะเข้าไปบริหารสังคมและเศรษฐกิจ นั่นคือ การสร้างพรรคเพื่อช่วยก่อให้เกิดแนวทาง “สังคมนิยมของศตวรรษที่ 21″
พรรคนี้จะสามัคคีผู้คนทุกคนที่ต่อต้านทุนนิยมมาเข้าร่วม โดยเชิญชวนมวลชนไม่ว่าจะอยู่ในที่ทำงาน โรงเรียน ชุมชน องค์กรระดับภูมิภาคและระดับชาติ มาจัดตั้งเป็นคณะกรรมการปฏิบัติการเพื่อมีส่วนร่วมในการสร้างพรรค เช่น การร่างธรรมนูญของพรรค การร่างหลักนโยบาย การจัดประชุมระดับท้องถิ่นระดับชาติ และระดับประเทศ เพื่อเตรียมการจัดประชุมใหญ่ก่อตั้งพรรคต่อไป
ทิศทางการสร้างพรรคต่อต้านทุนนิยมดังกล่าวเริ่มต้นจากการเปิดกว้างรับผู้คนร่วมสร้างพรรคที่หลากหลาย บนเป้าหมายเดียวกันคือการต่อต้านรัฐบาลซาร์โกซี และนำพามวลชนไปร่วมเรียนรู้ถึงปัญหาและทางออกท่ามกลางการเคลื่อนไหวทางสังคมในสถานการณ์ต่างๆ แล้วยกระดับไปสู่ความรู้แจ้งเห็นจริงในความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลงระบบทุนนิยมเพื่อรักษาโลกนี้ไว้ จากจุดเริ่มต้นถึงจุดสุดท้าย มีขั้นตอนการพัฒนาของพรรคและการเคลื่อนไหวทางสังคมตรงประเด็นสำคัญที่ว่า พรรคและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจักต้องสะสมชัยชนะ และได้รับการยอมรับนับถือของมวลชนอย่างกว้างขวางในหลักนโยบายเปลี่ยนแปลงสังคม โดยอาศัยแนวร่วมกลุ่มต่างๆ อย่างหลากหลายที่ร่วมกันต่อต้านทุนนิยมในประเด็นต่างๆ ได้ แม้ว่าจะมีแนวคิด แนวทาง และหลักนโยบายที่แตกต่างกัน (March separately, strike together)
การรวมกำลังแนวร่วมกับการสร้างพรรค
ในสถานการณ์ปัจจุบัน แม้ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในฝรั่งเศสยังคงตกเป็นฝ่ายตั้งรับทั้งในการต่อสู้ทางเศรษฐกิจสังคมและในการเลือกตั้ง แต่ผลจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลฝ่ายขวาก็ก่อให้เกิดกลุ่มฝ่ายค้านมากมายและหลากหลาย จึงเป็นที่ชัดเจนอย่างไม่ต้องสงสัยว่าฝ่ายซ้ายจะต้องผนึกกำลังด้วยกันเพื่อขับเคลื่อนพลังของตนไปเอาชนะใจมวลชนที่ยังลังเลอยู่กับบรรดาพรรคที่เลวน้อยกว่าอย่างพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสหรือพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสเข้าชิงชัยการเลือกตั้งเมื่อมีโอกาสและนำเสนอทางออก เค้าโครงการ หรือหลักนโยบายของตนในการเมืองระดับชาติ ด้วยภารกิจเหล่านี้ แนวทางรวมกำลังแนวร่วม (United front policy) เป็นยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่สำคัญยิ่ง
หากสรุปจากประสบการณ์ การต่อสู้ของฝ่ายซ้ายในศตวรรษที่ผ่านมา แนวทางนี้มีเป้าหมายเพื่อเคลื่อนไหวให้มวลชนคนงานยอมรับนับถือในแนวทางเปลี่ยนแปลงสังคมทุนนิยมโดยมียุทธศาสตร์ 2 ประการ คือ
ประการแรก เอาชนะความแตกแยกและการแบ่งแยกในหมู่มวลชนและคนงานไปตามความคิดความเชื่อทางการเมืองของกลุ่มตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่พวกเขาถูกโจมตีโดยนายทุนและรัฐบาลปีกขวาเพื่ออาศัยกำลังสามัคคีของมวลชนคนงานเหล่านี้ไปดำเนินการงานที่ยิ่งใหญ่ต่อไป
ประการที่สอง เอาชนะมวลชนและคนงานบางส่วนที่ยังคงเดินตามแนวทางปฏิรูป นิยมรัฐสภา นิยมการเลือกตั้ง ให้หันเหออกจากอิทธิพลเหล่านี้ และมาร่วมเปลี่ยนแปลงสังคมทุนนิยม
แต่จะบรรลุยุทธศาสตร์ทั้งสองนี้ได้ ก็ต้องอาศัยยุทธวิธีสร้างแนวร่วมอย่างกว้างขวาง ซึ่งในหลายกรณีความสำเร็จของการเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ นั้น ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้นำที่มีแนวทางปฏิรูปกลุ่มต่างๆ เช่น การนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องการปรับปรุงค่าจ้างบางครั้งต้องอาศัยนักการเมืองของพรรคฝ่ายค้านหรือข้าราชการฝ่ายปฏิรูปเข้าร่วม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การอาศัยแนวร่วมในทางยุทธวิธีนี้จะต้องไม่หันเหออกจากหรือไม่ละทิ้งยุทธศาสตร์ดังกล่าวไป นั่นคือ พร้อมๆ กับการสร้างแนวร่วมจำต้องให้มวลชนคนงานได้เห็นถึงข้อจำกัดของแนวร่วมเหล่านี้ และเรียนรู้ที่จะเป็นตัวของตัวเองโดยแตกหักกับมายาคติที่หวังพึ่งพิงนักการเมือง การเลือกตั้ง การปฏิรูปอย่างค่อยเป็นค่อยไป การร่วมมือและประนีประนอมทางชนชั้น เพื่อตัดตรงไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยมในห้วงเวลาชี้ขาด โดยรูปแบบการรวมกำลังแนวร่วมที่ก้าวหน้าที่สุดก็คือ การจัดตั้งตนเองของมวลชนคนงาน (Self-organization) อย่างกว้างขวางทุกระดับ มีระบบการเลือกตั้งตัวแทนขององค์กรอย่างเป็นประชาธิปไตย และมีระบบการถอดถอนตัวแทนได้ตลอดเวลา ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ผ่านมา องค์กรแบบนี้ได้แก่ สภาคนงาน (workers’ councils) ซึ่งมองในทางการเมืองแล้ว สิ่งนี้ก็คือ การสถาปนารัฐบาลของตัวแทนพรรคการเมืองและองค์กรต่างๆ ของมวลชนคนงานเพื่อแทนที่รัฐทุนนิยมนั่นเอง
ความหมายของฝ่ายซ้ายในศตวรรษที่ 21
ถ้าหากยุทธศาสตร์นี้ไม่บรรลุ อย่างมากที่สุดที่เราจะได้รับก็คือ ชัยชนะบางส่วนในเชิงตั้งรับ ซึ่งในหลายกรณีก็เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญยิ่ง เช่น กรณีรัฐสวัสดิการในยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นต้น กระนั้นปัญหาของยุคสมัยก็ยังคงดำรงอยู่และรอคอยให้แก้ไข นั่นคือ ทำอย่างไรจึงจะยกระดับจิตสำนึกของมวลชนคนงานไปสู่การต่อสู้เพื่ออำนาจของพวกเขาอย่างแท้จริง?
ความละเอียดอ่อนอยู่ตรงช่วงเปลี่ยนผ่านจากการสร้างพรรคและสร้างกำลังแนวร่วมไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลของคนงาน การสะสมชัยชนะจำเป็นต้องรวมกำลังกับแนวร่วม และอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้นำปฏิรูป โดยที่ยังรักษาความเป็นตัวของตัวเองทางการเมือง ได้แก่ หลักนโยบายไว้ได้อย่างคงเส้นคงวา การคิดหวังเอาเองว่า มวลชนคนงานที่ยังไม่พร้อมจะแตกหักกับแนวทางปฏิรูป-ดอกผลของรัฐสวัสดิการในยุโรป ผู้นำพรรคสังคมนิยมและผู้นำสหภาพแรงงานปีกปฏิรูปจะสามารถลุกขึ้นมาเสนอข้อเรียกร้องเพื่อโค่นทุนนิยมนั้น ย่อมเป็นการคาดคิดที่ติดกับมายาการว่า ปัญหามวลชนคนงานที่แตกแยกทางความคิดและขาดจิตสำนึกทางชนชั้นอย่างแท้จริงนั้นได้รับการแก้ไขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในอีกด้านหนึ่ง การนำพามวลชนคนงานเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในการต่อสู้ของตนเป็นภารกิจทางการเมืองที่ขาดเสียมิได้ของพรรคต่อต้านทุนนิยม เพื่อการนี้ ความเป็นประชาธิปไตยในพรรคเป็นเงื่อนไขชี้ขาดการเรียนรู้อย่างถูกต้องและลึกซึ้ง การรวมศูนย์ทางการเมืองเพื่อเอกภาพของการปฏิบัติกับประชาธิปไตยภายในพรรคจึงเป็นสองด้านของความเป็นพรรคต่อต้านทุนนิยมแบบที่เลนินเคยให้แนวทางและประสบการณ์เอาไว้
อย่างไรก็ตาม ในบริบทและเงื่อนไขของสังคมยุโรป ปัจจุบันที่ประชาธิปไตยแบบนายทุนมีความมั่นคงพอสมควร ประชาธิปไตยรวมศูนย์ที่ LCR นำไปปฏิบัติอยู่นั้น เน้นประชาธิปไตยมากกว่าการรวมศูนย์เมื่อเปรียบเทียบกับบริบทของสังคมที่มีการต่อสู้ทางชนชั้นที่แหลมคมและมีรัฐบาลเผด็จการซึ่งทำให้พรรคของมวลชนคนงานเน้นการรวมศูนย์มากกว่าประชาธิปไตย ดังนั้นภายใน LCR จึงเปิดโอกาสให้ความเห็นที่แตกต่างภายในหมู่สมาชิกดำรงอยู่และถูกนำเสนอออกไป เช่น ในสิ่งพิมพ์ของกลุ่ม ขณะที่สมาชิกทั้งปวงยังคงสนับสนุนการปฏิบัติตามแนวทางที่ได้รับการยอมรับของเสียงข้างมากอย่างเป็นประชาธิปไตย โดยที่ไม่ได้คาดหวังจะให้สมาชิกที่อยู่ในกลุ่มเสียงส่วนน้อยต้องเข้ามานำการทำงานหรือถกเถียงอย่างหนักหน่วงกับสมาชิกเสียงข้างมากที่พวกเขาไม่เห็นด้วย กระนั้น หากปราศจากปฏิบัติการร่วมกันที่มาจากการตัดสินใจอย่างเป็นประชาธิปไตยเสียแล้ว ก็ไม่ถือว่ามีประชาธิปไตยในแบบใดๆ เอาเลย
บทเรียนจากความแตกแยกในหมู่ฝ่ายซ้ายอังกฤษในพรรคต่อต้านทุนนิยมที่เปิดกว้างนาม RESPECT เมื่อกลางปีที่ผ่านมาเตือน LCR ได้ดีว่าสถานการณ์ปัจจุบันไม่ใช่การต่อสู้ภายในพรรคระหว่างปีกปฏิวัติกับปีกปฏิรูปดังที่พรรคคนงานสังคมนิยมอังกฤษ (Socialist Workers Party [Britain]) ยึดถือ จนต้องแตกหักกับผู้นำปีกปฏิรูปและทำให้องค์กรต้องแตกแยกเป็นสองเสี่ยง หากแต่เป็นการต่อสู้ระหว่างผู้คนที่ปรารถนาจะสู้กับนโยบายทุนนิยมและนโยบายรัดเข็มขัดงบประมาณแผ่นดินของพรรคแรงงาน กับกลุ่มผู้สนับสนุนสิ่งที่พรรคนี้ได้กระทำ ดังนั้นการสามัคคีใคร ไปต่อสู้กับใคร เพื่ออะไร? จึงมักเป็นคำถามง่ายๆ ที่ในหลายกรณีเมื่อตอบผิดพลาดก็สร้างความเสียหายให้กับกระบวนการสร้างพรรคและสร้างกำลังแนวร่วมได้เสมอ
การเป็นฝ่ายซ้ายในศตวรรษที่ 21 จึงอาจไม่ใช่การดำรงตนเป็นกลุ่มปีกซ้ายที่ยึดมั่นอยู่กับหลักนโยบายของตน และใช้มันเป็นเครื่องชี้ถูกชี้ผิดเข้าจัดการผู้อื่น ตรงกันข้ามกลับต้องเปิดใจร่วมเรียนรู้จากสถานการณ์จริงของการต่อสู้และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสร้างหลักนโยบายและสร้างรูปแบบการจัดตั้งรวมกลุ่มของตนให้เหมาะสมสอดคล้อง แล้วอาศัยเป้าหมายยุทธศาสตร์คือ การเติบโตทางความคิดและจิตสำนึกของมวลชนคนงานอย่างเป็นตัวของตัวเองมาตรวจสอบผลการทำงานของตนอยู่เสมอๆ

คดียึดพระราชทรัพย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ

ฟ้าเดียวกัน
สุพจน์ แจ้งเร็วศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 272 วันที่ 1 มิถุนายน 2545
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
ตั้งแต่วันที่ ๒๕ ไปจนถึงวันที่ ๓๐ ของเดือนธันวาคม ปี ๒๔๘๔ หนังสือพิมพ์สองฉบับ คือ ข่าวภาพ และศรีกรุง ได้ลงประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนวนหนึ่ง ตามที่กองบังคับคดีทางแพ่ง กระทรวงยุติธรรมแจ้งมา.
คำประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น โดยทั่วไปก็มิได้ทำให้ผู้อ่านมีความรู้สึกอันใดนัก เว้นแต่ผู้ที่เคยเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นมาก่อน, แต่การลงประกาศครั้งนี้เป็นเรื่องที่ต่างออกไป.
ข้าวของจำนวนไม่น้อยที่จะได้เริ่มขายตั้งแต่วันที่ ๘ มกราคม ๒๔๘๕ เป็นต้นไปนั้น มิได้เป็นของราษฎรทั่วไปคนใดคนหนึ่งที่ล้นพ้นไปด้วยหนี้, หากเป็นพระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี อดีตพระมหากษัตริย์และพระราชินี ผู้ทรงตกเป็นจำเลยในคดีที่กระทรวงการคลังฟ้องร้องเมื่อสามปีก่อนและบัดนี้ทรงแพ้คดี.
สำหรับประวัติการเมืองไทย, คดีนี้เป็นคดีประวัติศาสตร์. เป็นความจริงที่ว่าเหตุการณ์ภายหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ไม่ได้เป็นไปถึงขนาดที่พวกบอลเชวิคได้เคยกระทำแก่ราชวงศ์โรมานอฟ, แต่ในประเทศที่อำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ดำรงมาช้านาน, ในประเทศที่ยังมีผู้เห็นว่าราษฎรโง่แม้จะเป็นคนชาติเดียวกัน, การณ์เช่นนี้ย่อมไม่เป็นเรื่องที่ผู้ใดจะอาจคิดได้ว่าวันหนึ่งจะเกิดขึ้น.
อีกหลายสิบปีต่อมา, ในงานเขียนเรื่องชีวิตเหมือนฝัน, คุณหญิงมณี สิริวรสาร ซึ่งในระหว่างที่เกิดคดีดังกล่าวนั้นเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ใกล้ชิดกับองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี, ได้ย้อนเล่าถึงเรื่องนี้ว่า :
“การฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ นั้น ทุกคนทราบดีว่ามีการเมืองเป็นต้นเหตุ คือรัฐบาลต้องการกลั่นแกล้ง และให้ผู้ที่ไม่ทราบเรื่องราวเกลียดชังเจ้านายและระบอบกษัตริย์ เพราะทุกคนที่มีความเกี่ยวข้องกับศาลและกฎหมายย่อมทราบดีว่า พระมหากษัตริย์ย่อมจะทรงใช้เงินจากกรมพระคลังข้างที่ได้ เพราะทรงมีสิทธิและอำนาจที่จะใช้จ่ายในกรณีใดๆ ก็ได้ หรือจะพระราชทานเงินแก่ผู้ใดก็ได้”
ข้อความย่อๆ ดังกล่าวนี้ย่อมเป็นการง่ายแก่ผู้อ่านที่จะเข้าใจและคิดเห็นไปตามนั้น. อย่างไรก็ตาม, ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่, ในความเป็นจริงนั้นคดีฟ้องร้องที่เกิดขึ้นนี้ก็หาได้เกิดขึ้นและเป็นไปอย่างรวบรัดดังกับที่ข้อความสั้นๆ เพียงเท่านี้จะชวนให้นึกเห็นไปไม่, หากมีที่มาก่อนหน้านั้นหลายปี.
และการที่จะทราบเรื่องราวดังกล่าว เราจะต้องย้อนกลับไปดูที่มาของเรื่องและสภาพแวดล้อมของที่มานั้น, นั่นก็คือ, ตั้งแต่ในช่วงแรกๆ ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา.

หลังจากที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกต้องพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว, และโดยเฉพาะภายหลังกรณีกบฏบวรเดชในปี ๒๔๗๖, ความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะพระมหากษัตริย์ กับ “คณะราษฎร” ในฐานะรัฐบาลของประเทศมิได้ราบรื่นนัก. แรกสุดทีเดียวคณะราษฎรเห็นว่า พระองค์ได้ทรงหนุนช่วยฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชด้านการเงิน ดังปรากฏในหลักฐานการโอนเงินสองแสนบาท ที่ศาลพิเศษซึ่งตั้งขึ้นเมื่อหลังเหตุการณ์นั้นได้นำมาใช้ประกอบคำพิพากษา. จริงอยู่, ในเวลาต่อมา ม.จ.พูนพิศมัยทรงอ้างว่า ผู้ที่โอนเงินให้นั้นเป็นผู้อื่น หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทรง “รับบาป” แทน, แต่น่าเสียดายที่ต่อหน้าศาลในเวลานั้นข้ออ้างเช่นว่านี้ก็มิได้มีผู้ใดยกขึ้นมา.
แต่ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร และไม่ว่าแต่ละฝ่ายจะรู้สึกอย่างไร, ข้อความจริงหนึ่งก็มีว่า แต่นั้นมาพระราชดำริของพระองค์ กับความคิดเห็นของฝ่ายรัฐบาล และรวมไปถึงมติของรัฐสภาดูเหมือนจะไม่เคยผสานกันได้ไม่ว่าจะในประเด็นใด. ลักษณาการเช่นนี้ได้ดำเนินและขยายตัวไป กระทั่งทรงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติในปลายปี ๒๔๗๗ เป็นที่สุด ขณะประทับอยู่ในประเทศอังกฤษ.
ข้อที่ทรงคับข้องพระราชหฤทัยมีอยู่หลายประการ, ซึ่งทั้งหมดนั้นทำให้พระองค์ทรงรู้สึกเสมอว่า ทรงถูกจำกัดให้เพียงแค่ “ลงพระปรมาภิไธย” เท่านั้น, ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเองก็รู้สึกว่าตนได้อนุโลมตามพระราชประสงค์เป็นส่วนมากแล้ว และสามารถตอบข้อที่ทรงข้องพระราชหฤทัยนั้นได้ทุกประการทั้งต่อพระองค์เองและต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร. ในการประชุมสภาสมัยที่ ๒ ในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๗๗, กล่าวคือ ก่อนที่จะทรงสละราชสมบัติหนึ่งเดือน, พระยาพหลฯ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในช่วงแห่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงนั้นถึงกับกล่าวว่า “เราอยากจะให้ท่านแน่พระทัยว่า ‘กูอยากจะเอาอะไรที่มันไม่ขัดรัฐธรรมนูญแล้วมันก็ให้’ นี่เราแสดงใจนักเลงอย่างนี้แหละ.”
ก่อนหน้าการประชุมสภาครั้งนี้, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชโทรเลขลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๔๗๗ ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ (พระยศในขณะนั้น) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์. ในพระราชโทรเลขนั้นทรงยกตัวอย่างถึงเรื่องที่ทำให้พระองค์จะทรงทนต่อไปมิได้, นั่นก็คือ, เรื่องพระราชบัญญัติอากรมรดก ซึ่งทรงเห็นว่ารัฐบาลทำให้พระองค์ “เซ็น” ด้วยวิธีหลอกลวง, กับเรื่องคดีพระพิบูลย์ไอศวรรย์ฟ้องร้องพระคลังข้างที่ ซึ่งทรงกล่าวว่า ถ้าพระคลังข้างที่แพ้พระองค์ก็จะทรงสละราชสมบัติ. เมื่อมองโดยรวมบางทีเราจะเห็นว่าตัวอย่างที่ทรงยกมานี้ (ในขณะที่ทรงกล่าวว่า “เรื่องอื่นก็ยังมีอีกมากมาย”) เป็นแต่เพียงฟางเส้นสุดท้าย และมิได้มีอะไรมากไปกว่านั้น.
ในความเป็นจริง, ทั้งสองกรณีนี้โดยตัวของมันเองมิใช่เรื่องเล็กน้อย; ที่สำคัญก็คือมันจะเป็นเรื่องโยงใยไปถึงคดีฟ้องร้องอันเป็นประวัติการณ์ดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น. การที่จะเชื่อมโยงไปนั้นก็ด้วยสาเหตุสำคัญที่ว่า, กรณีทั้งสองนี้เกี่ยวพันกับเงินก้อนหนึ่งในพระคลังข้างที่อันเป็นที่มาของเรื่องทั้งหมด.
คดีพระพิบูลย์ไอศวรรย์นั้นมีอยู่ว่า, เดิมพระพิบูลย์ไอศวรรย์เป็นคนหนึ่งที่ได้รับพระราชทานพินัยกรรมจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖, ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนกฎหมายที่อังกฤษ. เมื่อกลับเข้ามารับราชการในกระทรวงยุติธรรม, ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๗ กรมพระคลังข้างที่ก็ได้ตัดเงินปีตามพระราชพินัยกรรมนั้นเสีย. แต่พระพิบูลย์ฯ เห็นว่าพระราชพินัยกรรมมิได้ระบุเช่นนั้น, และเห็นเอาว่าเมื่อได้รับพระราชทานแล้วก็จะต้องได้รับพระราชทานตลอดไป แม้ตนจะได้รับราชการมีเงินเดือนแล้วก็ตาม. ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ระยะหนึ่ง พระพิบูลย์ฯ ก็ได้ยื่นฟ้องพระคลังข้างที่, เรียกร้องเงินเลี้ยงชีพที่ถูกยกเลิกไป.
คดีพระพิบูลย์ฯ นี้แม้มิได้เป็นเรื่องที่ใครจะนำมากล่าวขวัญอย่างเอิกเกริกเลื่องลือต่อมาเช่นกรณีนายถวัติ ฤทธิเดช ฟ้องร้องว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงหมิ่นประมาทราษฎร, แต่ก็เป็นเรื่องกระทบกระเทือนพระองค์ไม่น้อย, หาไม่ก็คงไม่ทรงมีพระราชดำรัสถึงเช่นนั้น. อันที่จริงคดีเช่นนี้ก็มิได้มีเพียงคดีเดียว และบรรดาผู้ที่ฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็ล้วนแต่เป็นคนในราชสำนักทั้งสิ้น. ในเรื่องนี้ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเล่าว่า, เมื่อได้มีการตัดทอนเงินพระราชทานในสมัยรัชกาลที่ ๗ นั้น บรรดาพวกที่ถูกลดถอนก็พากันโกรธเคืองพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ว่า ทรงลบล้างพระราชพินัยกรรม. พอเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วพระสุจริตสุดา (เปรื่อง สุจริตกุล) พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็เป็นผู้นำฟ้องต่อศาลก่อนเป็นรายแรก โดยมีเจ้าพระยารามราฆพเป็นรายถัดมา. ครั้นที่สุดเมื่อศาลตัดสินว่าที่ทรงชี้ขาดเช่นนั้นเป็นเรื่องในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์, เรื่องจึงได้สงบลงเท่านั้น.
ส่วนในเรื่องพระพิบูลย์ฯ นี้ ขณะนั้นยังมิได้มีการตัดสิน. ในพระราชโทรเลขถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยืนยันว่า : “หม่อมฉันได้ทูลมาแล้วว่า หม่อมฉันจะไม่กลับจนกว่าคดีนี้จะได้เสร็จไป เพราะหากคดีนี้พระคลังข้างที่แพ้หม่อมฉันก็จะสละราชสมบัติ หม่อมฉันสัญญาไม่ได้ว่าจะไม่สละราชสมบัติ และไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะเจรจากันต่อไป จนกว่าคดีนี้จะเสร็จไป…”
ทางฝ่ายรัฐบาลเองเมื่อได้ทราบความในพระราชโทรเลขเช่นนี้ก็ได้มีหนังสือถึงเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ หัวหน้าคณะตัวแทนที่รัฐบาลส่งไปเข้าเฝ้าที่อังกฤษ, ให้กราบบังคมทูลว่าคดีนี้เป็น “เรื่องเกี่ยวแก่อำนาจตุลาการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะสั่งศาลมิได้ เพราะเป็นการผิดต่อรัฐธรรมนูญ แล้วจะทำให้ต่างประเทศขาดความไว้ใจในศาล ซึ่งกระทบถึงสัญญาทางพระราชไมตรีโดยทั่วๆ ไป.”
ข้อที่ทรงตั้งเงื่อนไขถึงขนาดว่า หากคดีนี้กรมพระคลังข้างที่แพ้ พระองค์ก็จะทรงสละราชสมบัตินั้นเป็นที่กังขากันอยู่ เพราะไม่มีผู้ใดจะอาจทราบพระราชประสงค์ได้. โดยที่ในเวลาเดียวกันนั้นเองได้ทรงตั้งข้อคัดค้านรัฐบาลในเรื่องพระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญว่าไม่เป็นการยุติธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา, ในที่ประชุมสภาฯ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๗๗, พระพินิจธนากร ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่จึงกล่าวอภิปรายว่า : “ในการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะขอให้ทรงเลิกพระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญนั้น ข้าพเจ้ายังไม่ทราบว่ามีพระราชประสงค์อันใดแน่นอน คือข้าพเจ้ามีความฉงนเป็นอันมากในคติตอนหนึ่งซึ่งเกี่ยวแก่ผลประโยชน์ของท่าน คือในเรื่องพระพิบูลย์ไอศวรรย์ในตอนหนึ่งท่านบอกว่า เพราะเหตุว่าเราใช้การพิจารณาโดยไม่มีศาลไม่มีอะไร ท่านไม่พอพระราชหฤทัย แต่ว่าในเรื่องพระพิบูลย์ไอศวรรย์ถ้าท่านแพ้ท่านก็จะลาออก เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าผู้มีสติปัญญาอันน้อยไม่ทราบพระราชประสงค์ของท่านอันใดเลย.”
นั้นเป็นเรื่องหนึ่ง.
เรื่องที่สำคัญกว่าเรื่องพระพิบูลย์ไอศวรรย์ คือเรื่องพระราชบัญญัติอากรมรดก. ตอนหนึ่งในพระราชโทรเลขที่ทรงมีถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศฯ ที่ได้อ้างถึงมาข้างต้นนั้น, ทรงกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า :
“เขา (คณะรัฐบาล) ได้ทำให้หม่อมฉันเซ็นพระราชบัญญัติอากรมฤดกโดยวิธีหลอกลวง เขาได้ทำให้หม่อมฉันเข้าใจว่าจะเสนอพระราชบัญญัติใหม่ แถลงความหมายแห่งพระราชสมบัติส่วนพระมหากษัตริย์ตามนัยที่หม่อมฉันได้วางไว้ให้ออกใช้เป็นกฎหมายโดยเร็วที่สุดที่จะเร็วได้ ดั่งที่นายกรัฐมนตรีได้แจ้งไปตามโทรเลขของท่านลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม (๒๔๗๗) ร่างพระราชบัญญัตินี้ควรร่างขึ้นได้ภายในเวลาครึ่งชั่วโมง แทนที่จะได้ทำเช่นนั้นกลับตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อร่างพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งจะทำให้หม่อมฉันอยู่ในฐานะเช่นเดียวกับฐานะของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ สภาพการณ์เช่นนี้หม่อมฉันจะยอมรับไม่ได้ สภาพการณ์ของทรัพย์สมบัติของกรมพระคลังข้างที่ในประเทศสยามไม่เหมือนกับพระราชทรัพย์ส่วนพระมหากษัตริย์อังกฤษ หม่อมฉันเห็นว่าเป็นการพยายามที่จะดึงเอาความครอบครองกรมพระคลังข้างที่ไปจากหม่อมฉัน วิธีการเช่นนี้อาจเป็นที่พึงพอใจสำหรับผู้อื่นได้แต่ไม่ใช่สำหรับหม่อมฉัน และหม่อมฉันก็คงจะต้องทักท้วงพระราชบัญญัตินี้อีก…”
ที่มาของเรื่องนี้มีอยู่ว่า, ในวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๔๗๗ รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติอากรมรดกและรับมรดก ซึ่งเมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาแล้วก็ได้ลงมติให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย. อย่างไรก็ตาม, พระองค์ก็มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยโดยทันที, หากได้พระราชทานร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้กลับคืนมาให้สภาฯ พิจารณาอีกครั้ง, โดยทรงขอให้เพิ่มบทบัญญัติยกเว้นการเก็บอากรมรดกจากทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้ชัดแจ้งว่าไม่ต้องเสียอากรมรดก. พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์จะให้เติมข้อความต่อไปนี้ลงในร่างพระราชบัญญัติ :
“พระราชทรัพย์สินใดๆ ที่เป็นพระราชมฤดกไปยังผู้อื่นนอกจากผู้สืบราชสมบัติต้องเสียอากรมฤดก นอกจากนั้นเป็นพระราชทรัพย์ฝ่ายพระมหากษัตริย์ไม่ต้องเสียอากรมฤดก”
คณะรัฐมนตรียืนยันว่า ตามร่างพระราชบัญญัตินี้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ต้องเสียอากรมรดกอยู่แล้ว. เมื่อที่ประชุมสภาฯ ได้พิจารณาและลงมติด้วยคะแนนลับ ยืนยันตามร่างเดิมด้วยคะแนนเสียง ๑๓๒ ต่อ ๘๙ นายกรัฐมนตรีจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยอีกครั้งหนึ่ง. ในการนี้ทางรัฐบาลได้ให้หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ (พระยศในขณะนั้น) ไปอังกฤษเพื่อกราบบังคมทูลถวายรายงานด้วยว่า ร่างพระราชบัญญัตินั้นตรงกับพระราชประสงค์แล้ว คือจะไม่เรียกเก็บอากรจากทรัพย์สินพระมหากษัตริย์, และรัฐบาลจะร่างกฎหมายยกเว้นอากรดังกล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในที่สุดได้ทรงยอมลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไปได้.
หลังจากนั้นมารัฐบาลก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณายกร่างพระราชบัญญัติยกเว้นการเก็บอากรมรดกจากทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้เป็นที่ชัดเจนตามพระราชประสงค์, ดังสำเนาหนังสือที่รัฐบาลได้มีไปกราบบังคมทูลต่อไปนี้ :
ที่ ก. ๔๕๐๘/๒๔๗๗ สำนักนายกรัฐมนตรี
วันที่ ๒๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗
ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
ตามที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมีพระราชประสงค์ให้สภาผู้แทนราษฎรแก้ไขร่างพระราชบัญญัติอากรมฤดกและการรับมฤดก พุทธศักราช ๒๔๗๖ เติมความลงให้ปรากฏชัดเจนในการยกเว้นพระราชสมบัติฝ่ายพระมหากษัตริย์ไม่ต้องเสียอากร แต่สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมปรึกษาลงมติยืนตามมติเดิมนั้น ในการอภิปรายของผู้แทนราษฎรก็ได้แสดงเห็นพ้องด้วยกับรัฐบาลว่า พระราชสมบัติฝ่ายพระมหากษัตริย์ไม่ต้องเสียอากรมฤดกเหมือนกันแต่เพื่อที่จะให้หลักฐานแน่นอนตามพระราชประสงค์ รัฐบาลจึ่งได้ดำริร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากรอันเกี่ยวแก่พระราชสมบัติฝ่ายพระมหากษัตริย์ (Crown Property) ขึ้นอีกฉะบับหนึ่ง โดยมี๑. เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ เปนประธาน๒. หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ๓. เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์๔. พระยาวิกรมรัตนสุภาษ๕. เซอร์รอเบอร์ต ฮอลแลนด์๖. พระดุลยธารณ์ปรีชา ไวท์๗. นายชาลส์ เลเวกส์เปนกรรมาธิการของคณะรัฐมนตรี พิจารณาหลักการและยกร่างเป็นพระราชบัญญัติเพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร
ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายคำมั่นว่าจะจัดการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้ต่อสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมสามัญปีนี้ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไปควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ข้าพระพุทธเจ้า(ลงนาม)นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนานายกรัฐมนตรี
จากหนังสือนี้, ต่อมาในเดือนตุลาคมก็ได้ทรงมีพระราชโทรเลขกลับมามีความดังที่ยกมาข้างต้นนั้น. เพราะเหตุที่ทรงกล่าวว่าถูกหลอกลวงให้เซ็น, นายกรัฐมนตรีจึงขอให้ ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ. ในคำชี้แจงนั้น, ม.จ.วรรณไวทยากรก็ได้ทรงเล่าถึงการเข้าเฝ้า และย้ำในข้อที่ว่าพระมหากษัตริย์จะไม่ต้องเสียอากรมรดก, ซึ่งเป็นข้อที่มีพระราชประสงค์จะให้เป็นดังนั้น และรัฐบาลเองก็ต้องการให้เป็นดังนั้นอยู่แล้ว.
ถ้าเช่นนั้นปัญหาที่ทำให้ถึงกับต้องทรงออกพระโอษฐ์ว่าทรงถูก “หลอกลวง” คืออะไร?
อันที่จริงข้อความในพระราชโทรเลขนั้นเองก็ได้แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า หัวใจของปัญหาไม่ได้อยู่ที่พระราชบัญญัติอากรมรดกเลย, ไม่ได้อยู่ในข้อที่ว่าพระมหากษัตริย์จะต้องเสียอากรมรดกหรือไม่; นั่นไม่ใช่ปมขัดแย้งที่แท้ แม้ดูเสมือนว่าจะเป็น. แท้จริงหัวใจสำคัญของปัญหานั้นอยู่ที่สิ่งที่รัฐบาลกำลังจะทำ, นั่นก็คือ, “ดำริร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากรอันเกี่ยวแก่พระราชสมบัติฝ่ายพระมหากษัตริย์ (Crown Property) ขึ้นอีกฉบับหนึ่ง”; พระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้, แทนที่จะร่างขึ้นง่ายๆ “ภายในเวลาครึ่งชั่วโมง” ตาม “นัย” ที่ทรงวางไว้, กล่าวคือ มีเนื้อเพียงว่าพระมหากษัตริย์ไม่ต้องเสียภาษี, รัฐบาลกลับตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างขึ้นมาใหม่ อันจะทรง “ยอมรับไม่ได้”.
พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์เพียงข้อความประโยคเดียว, ไม่ใช่พระราชบัญญัติใหม่ทั้งฉบับที่จะเข้าไปยุ่มย่ามกับพระราชทรัพย์ในพระคลังข้างที่!
พระราชบัญญัติฉบับใหม่ที่เกิดขึ้นมาโดยมิได้ทรงมีพระราชประสงค์, กับยังมีเนื้อหาที่ทรงเห็นว่าต่อไปอีกมิช้ามินานจะทำให้พระองค์ต้องทรง “อยู่ในฐานะเช่นเดียวกับฐานะของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ” ฉบับนี้แหละ คือพระราชบัญญัติที่จะเรียกกันในเวลาต่อมาว่า “พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์”.
และคดีฟ้องร้องยึดพระราชทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นในอีก ๗ ปีข้างหน้าก็เริ่มขึ้นจากหวอดนี้เอง. คดียึดพระราชทรัพย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ”
ก่อนที่จะได้กล่าวถึงเนื้อหาของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวต่อไป ยังมีสิ่งที่ควรจะได้กล่าวถึงไว้ในที่นี้ด้วย.
ในเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นกรณีขึ้นนี้, นอกจากพระราชโทรเลขที่อ้างถึงมาข้างต้นนั้นแล้ว ก็ยังมีเอกสารสำคัญอีก ๒ ฉบับที่ทรงกล่าวถึงเรื่องนี้โดยตรง. เอกสารทั้งสองฉบับนี้มิได้เป็นเอกสารทางราชการ, หากเป็นพระราชบันทึกที่ทรงทำขึ้นพระราชทานพระยาราชวังสันเป็นการส่วนพระองค์ ในช่วงเดือนกันยายนของปี ๒๔๗๗, กล่าวคือ ก่อนหน้าที่จะมีพระราชโทรเลขมาเล็กน้อย, เมื่อพระยาราชวังสันกราบบังคมทูลขอเป็นคนกลางระหว่างองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับคณะรัฐบาล. ความตอนหนึ่งในพระราชบันทึกฉบับที่ ๑ มีว่า :
“มีข่าวว่าจะเปลี่ยนรูปโครงการณ์ของกระทรวงวังใหม่ให้เหมือนราชสำนักอังกฤษ เรื่องนี้ได้ยินว่ารัฐบาลจะเก็บเป็นความลับจนกว่าฉันจะกลับถึงกรุงเทพฯ แล้วจึงจะดำเนินการ ซึ่งเดาได้ว่าการเปลี่ยนเหล่านี้คงจะเป็นไปในทางที่ฉันจะไม่พอใจ จึงต้องรอให้ได้ตัวไปขังไว้ในเมืองไทยเสียก่อนจึงจะดำเนินการ ในเรื่องนี้ต้องขอให้รัฐบาลเลิกล้มความดำริ หรือมิฉะนั้นต้องส่งโครงการณ์ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงนี้มาให้ทราบเสียก่อนฉันกลับ มิฉะนั้นจะไม่กลับ…”
ส่วนพระราชบันทึกที่ ๒ ซึ่งตอนต้นเป็นเรื่องภาษีมรดก และตอนปลายเป็นเรื่องผู้ที่จะสืบราชสมบัติต่อไปหลังจากที่พระองค์ทรงสละราชสมบัติแล้ว, มีความตอนหนึ่งว่า :
“พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ซึ่งอาจยินดียอมรับตำแหน่ง และฉันได้ทราบแน่นอนว่า มีความคิดความเห็นอยู่หลายอย่างในทางที่จะทำให้พระมหากษัตริย์กับคณะราษฎรหมดข้อบาดหมางกันได้ และดำเนิน Policy บางอย่างที่จะเป็นที่พอใจของคณะราษฎร เช่นจะยกสมบัติของพระคลังข้างที่ให้รัฐบาล และขอเงินก้อนประจำปีแทน จะเลิกทหารรักษาวังและยอมให้รัฐบาลตั้งข้าราชการในราชสำนักตามใจ วิธีการเหล่านี้ล้วนเป็นของที่ฉันเองยอมไม่ได้ และจะต้องวิวาทกับรัฐบาลอีกต่อไปอย่างแน่นอน เว้นแต่รัฐบาลจะผ่อนผันตาม”
“ข่าว” ที่ทรงได้รับนั้นจะทรงได้โดยทางใดหรือจะมีรายละเอียดมากน้อยเพียงไรไม่ปรากฏ. อย่างไรก็ดี, ในเดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้นเอง หลังจากได้ทราบความจากพระราชโทรเลขและพระราชบันทึกทั้งสองฉบับนี้แล้ว, รัฐบาลก็ได้ส่งคณะผู้แทนอันประกอบด้วยเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ, หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และนายดิเรก ชัยนาม ไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ประเทศอังกฤษ.
นายดิเรก ชัยนาม ได้ทำบันทึกการเข้าเฝ้าถึงรัฐบาลว่า :
“ทรงรับสั่งว่าเรื่องหลักการ Crown Property เป็นอย่างไร คณะผู้แทนได้กราบบังคมทูลว่า ก่อนออกมาคราวนี้ได้มีการประชุมกรรมการครั้งที่ ๑ แล้ว ได้วางหลักการตามที่คณะรัฐมนตรีได้ถวายความเห็น ซึ่งได้ทรงเห็นชอบแล้ว คือ๑. พระราชทรัพย์ซึ่งจะตกทอดไปยังผู้สืบสันตติวงศ์นั้นไม่ต้องเสียภาษี๒. ที่ตกไปยังผู้อื่นซึ่งมิใช่ผู้สืบสันตติวงศ์นั้นต้องเสียเวลานี้คณะกรรมการได้ตกลงให้ Sir Robert Holland กับ M. L’evesque ไปจัดการร่างเบื้องต้นมา มิได้จัดการอย่างพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ การที่มิได้ร่างโดยเร็วก็เพราะเป็นพระราชบัญญัติที่ยากมาก และรัฐบาลหวังว่าถ้าเสด็จกลับไปร่วมมือในการร่างพระราชบัญญัตินี้ก็จะเป็นการเรียบร้อย แต่ในขั้นนี้อาจทำได้โดยวางหลักการไว้และทำ Inventory บัญชีสำรวจภายหลังก็ได้ ก็ทรงพอพระราชหฤทัยต่อจากนั้นได้ทรงรับสั่งว่า เหตุผลในการที่พระองค์ทรง Veto พระราชบัญญัตินั้นมีอยู่สองข้อ (๑) เป็นการทำลายฐานะของพระมหากษัตริย์ (๒) การใดที่ไม่ต้องด้วยความประสงค์ของราษฎรทั่วไปแล้ว ในสองข้อนี้จะต้อง Veto นอกจากนี้แล้วจะไม่ทรงใช้เลย”
การเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลคราวนี้ถึงจะไม่มีผลมากนัก แต่ก็ไม่ถึงกับล้มเหลวไปเสียทีเดียว, เพราะหลังจากนั้นมาเรื่องพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ก็มิได้เป็นประเด็นอีก, หากเป็นเรื่องอื่นและเรื่องอื่นต่อไป. ถึงที่สุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มิได้เสด็จกลับ และก็ทรงสละราชสมบัติในอีกสองเดือนต่อมา.
ข้อที่ทรงย้ำไว้ในหลายที่ว่ารัฐบาลกำลังจะทำให้พระองค์อยู่ในฐานะเช่นเดียวกับกษัตริย์อังกฤษด้วยการดึงเอาความครอบครองกรมพระคลังข้างที่ไปจากพระองค์นั้น ได้กลายเป็นข้อที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางท่านยกขึ้นมาอภิปรายอย่างรุนแรงอย่างถึงขั้นก้าวร้าว. ร.ท.ทองคำ คล้ายโอภาส ผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรีถึงกับกล่าวว่า “…ที่นี้พระราชบันทึกของพระองค์ พระองค์ต้องการให้ประเทศเรามีการปกครองอย่างประชาธิปไตยอย่างประเทศอังกฤษแท้ๆ แต่พระองค์ก็บอกไว้ในนั้นเอง บอกแย้งในนั้นเองว่าจะให้ฉันทำอย่างพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษไม่ได้ ทีการปกครองละก้อจะเอาอย่างอังกฤษ แต่ไม่อยากจะเป็นอย่างพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ เพราะฉะนั้นก็เหลือที่จะทนทานเหมือนกัน.”
นั่นเป็นถ้อยคำที่ก้ำเกิน, แต่กระนั้นมันก็เป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เราเห็นถึงบรรยากาศส่วนหนึ่งของเวลานั้น.
ประการหนึ่งที่เราต้องเข้าใจก็คือว่า, การที่ทรงรู้สึกว่ารัฐบาลกำลังจะดึงเอาความครอบครองพระคลังข้างที่ไปจากพระองค์เช่นนี้มิได้เป็นข้อที่ทรงรู้สึกเพียงเมื่อเกิดเรื่องนี้ขึ้นเท่านั้น, หากทรงระแวงพระราชหฤทัยมาตั้งแต่วันแรกๆ ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินแล้ว, เพราะมีข่าวลือว่ารัฐบาลจะริบทรัพย์เจ้า. และไม่ใช่แต่ข่าวลือเท่านั้น, ตอนหนึ่งในคำประกาศของคณะราษฎรเองที่ว่า “เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้านมาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น” นั้นก็มีกังวานอันน่าพรั่นพรึงอยู่.
ย้อนหลังไปสองปี, เมื่อตัวแทนของคณะราษฎรเข้าเฝ้าในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๗๕ ได้ทรงมีพระราชปรารภในเรื่องนี้. ในเอกสารที่เจ้าพระยามหิธร ซึ่งทำหน้าที่ราชเลขาธิการได้บันทึกไว้ในวันนั้น มีความตอนหนึ่งว่า :
“ได้ทรงทราบข่าวเรื่องจะยึดเงินไม่ทราบว่าจะทำจริงหรือไม่เพียงไร ถ้าจะริบทรงขอลาออกเสียก่อน เพราะจะยอมเป็นหัวหน้าบอลเชวิคร่วมมือริบทรัพย์ญาติด้วยไม่ได้ เป็นยอมตาย ที่คณะราษฎรจะคิดหาเงินจากคนมั่งมีด้วย Taxation นั้นทรงยอมได้ แต่ในประกาศของคณะราษฎรที่พูดออกมานั้นทำให้ต่างประเทศมีความสงสัย ทรงขอบอกว่าเมืองไทยจะทำอย่างเมืองจีนไม่ได้ และจะเปรียบกับอาฟกานิสตานก็ไม่ได้ เพราะภูมิประเทศผิดกัน เมืองไทยประเทศใกล้เคียงเอาเรือรบมาเมื่อไรก็ได้ จึงทรงขอทราบว่าคณะราษฎรได้คิดดังนั้นจริงหรือ
พระยามโนปกรณ์ฯ กราบบังคมทูลว่า คณะราษฎรไม่ได้คิดดังนั้นเลย คิดจะหาเงินโดยทางภาษีกับทาง internal loan เท่านั้น
มีพระราชดำรัสว่า เมื่อได้รับคำยืนยันว่าไม่ริบทรัพย์ จะจัดทางภาษีและทางกู้เงินในประเทศจะทรงช่วยได้ พระคลังข้างที่มีอยู่ ๖ ล้านจะยอมให้…”
จากวันที่ ๓๐ มิถุนายนมาจนถึงเดือนมีนาคมปลายปี ๒๔๗๕ ข่าวลือทำนองนี้ก็ยังไม่ได้จางไป. ในพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ ลงวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๗๕ ถึงพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระราชโอรสบุญธรรม, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงเล่าถึงข่าวลือต่างๆ ที่กำลังแพร่สะพัด-อย่างน้อยก็ในหมู่เจ้านาย-ว่า :
“ข่าวลือหลังนี้ที่น่าเชื่อก็มีมาก และที่เหลวก็มี เสียงลือที่มีมาก็ว่าจะจับฉันเซ็นอะไรต่างๆ ในงานฉัตรมงคล เช่น เซ็นให้คณะราษฎรเปน dictator ถึงกับเตรียม cabinet ไว้แล้วด้วยซ้ำ เสียงลืออันนี้จึงน่าเชื่อมาก และพวกคณะราษฎรก็กลัวพวกคณะชาติจะลุกขึ้นเล่นอะไรเต็มทีแล้ว นอกจากนี้ก็ว่าจะให้ฉันยกพระคลังข้างที่ให้แก่ชาติให้หมด แล้วให้ abdicate เขาจะประกาศเปน republic และจะจับพวกเจ้าและตัวฉันขังไว้เปนตัวประกัน บางเสียงก็ว่าจะจับพวกเจ้าฆ่าให้หมด ซึ่งเห็นจะพูดมากไป เพราะถ้าทำดังนั้นฝรั่งก็เข้ามาแน่ พวกเจ้ากลัวกันมาก เลยหนีจากกรุงเทพเปนจำนวนมาก ข้าราชการที่หนีไปก็มีบ้าง”
และในพระราชหัตถเลขาฉบับเดียวกันนั้นเองก็ยังทรงกล่าวต่อไปอีกว่า, “ฉันฉุนเหลือเกิน อยากเล่นบ้าอะไรต่างๆ จัง แต่กลัวนิดหน่อยว่าพวกเจ้าจะถูกเชือดคอหมดเท่านั้นเอง”, และ, “เราอยู่ที่นี่ก็คิดแปลนอะไรกันต่างๆ จนหัวยุ่งเสมอ แต่เรื่องแปลนเหล่านี้จะไม่เล่าเพราะกลัวถูกเปิดหนังสือ…”
ทั้งหมดนั้นมาจาก “ข่าว” ที่ทรงได้รับ, และทั้งหมดนั้นก็คือเรื่องที่ทรงกังวลพระราชหฤทัยมาจนตลอดรัชกาล.
ข้อที่ว่าทรง “อยากเล่นบ้า” ไม่ใช่เรื่องสำคัญในที่นี้, และปัญหาที่ว่า “ข่าว” นั้นจะจริงหรือเท็จก็ไม่ใช่ประเด็นที่เราจะต้องอภิปราย, ประเด็นสำคัญในที่นี้ก็คือเรื่องเงินจำนวน ๖ ล้านบาทในพระคลังข้างที่ที่ทรงมีพระราชดำรัสกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดาในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ นั้น.
ตรงนี้ต้องขยายความว่า, ที่มาของเงินจำนวนนี้คือ, เดิมในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ เงินก้อนนี้มีอยู่ ๑๐ ล้านบาท; ในเวลานั้นที่ปรึกษากระทรวงการคลังได้กราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงปฏิบัติ ๒ ประการ, คือ หนึ่ง ให้ซื้อที่ดินฝั่งธนบุรีตั้งแต่ปากคลองมอญลงไปเอาไว้เป็นของพระคลังข้างที่ โดยเก็บเอากำไรในภายหลัง, หรือสอง, ฝากในธนาคารต่างประเทศ. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกประการหลัง. ครั้นล่วงมาถึงในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงถอนมา ๔ ล้านบาท จึงเหลือเพียง ๖ ล้านบาทดังกล่าว.
จากกองเงินจำนวน ๖ ล้านบาทนี้เอง ที่พระพิบูลย์ไอศวรรย์ฟ้องร้องเรียกค่าเลี้ยงชีพจากพระคลังข้างที่, และก็จากเงินกองเดียวกันนี้เองที่ทรงเห็นว่า หากพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ก็จะยกให้กับรัฐบาลเสีย.
แต่ข้อเท็จจริงข้อหนึ่งที่ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดในเวลานั้นทราบ-เว้นแต่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว-ก็คือ, ในช่วงเวลาที่ทรงมีปัญหาคับข้องพระราชหฤทัยในคณะราษฎรอย่างรุนแรงในปี ๒๔๗๗, ไม่ว่าจะในเรื่องพระพิบูลย์ไอศวรรย์ฟ้องร้องเรียกเงินเลี้ยงชีพจากพระคลังข้างที่ก็ดี, ในเรื่องรัฐบาลกำลังจะออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ก็ดี, รวมไปถึงเรื่อง “Policy” ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ก็ดี, เงินจำนวนดังกล่าวเกือบจะไม่เหลืออยู่ในบัญชีกรมพระคลังข้างที่แล้ว!
การร่อยหรอนั้นได้เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ๒๔๗๕ เป็นต้นมา…
จริงอยู่, ภายในสัปดาห์แรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองยังทรงมีพระราชดำรัสกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดาว่า ทรงยินดีจะให้รัฐบาลกู้เงินก้อนนี้ไปใช้บำรุงประเทศ, ทว่าหลังจากนั้นมาอีก ๑๘ วัน, ก็ได้ทรงเริ่มโอนเงินที่ฝากไว้ในต่างประเทศในนามกรมพระคลังข้างที่นี้เข้าบัญชีส่วนพระองค์เป็นระยะๆ. ผู้ที่เอาใจใส่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ อาจสนใจที่จะเทียบวันเวลาว่า, ในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๔๗๕, หรือก็คือก่อนหน้าวันที่จะทรงเริ่มโอนเงินที่ฝากไว้ในนามพระคลังข้างที่ ๒ สัปดาห์, สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ต้องเสด็จออกนอกประเทศไปแล้ว.
จำนวนเงินโดยละเอียดนั้นเราจะกล่าวถึงอีกครั้งในตอนข้างหน้า, ต่อไปนี้เป็นเพียงจำนวนโดยคร่าวๆ เท่านั้น, คือ :
วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๗๕ หนึ่งแสนสามหมื่นบาทเศษ,วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๗๕ สามแสนสองหมื่นบาทเศษ,วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๗๕ หนึ่งล้านหนึ่งแสนบาทเศษ,วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๔๗๕ ห้าแสนสี่หมื่นบาทเศษ,วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๔๗๕ เก้าหมื่นห้าพันบาทเศษ,วันที่ ๖ กันยายน ๒๔๗๕ สามแสนหนึ่งหมื่นบาทเศษ,วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๔๗๕ ทรงโอนเงินที่จะต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลอังกฤษ เข้าบัญชีของพระองค์หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นบาทเศษ,วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๔๗๕ ทรงถอนเงินจากบัญชีพระคลังข้างที่ไปทำประกันสามแสนบาท,วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๗๕ ทรงถอนเงินจากบัญชีพระคลังฯ ไปทำประกันอีกหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทเศษ,รายการสุดท้ายคือ, ในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๔๗๗ ทรงโอนเงินก้อนสุดท้ายจากพระคลังข้างที่เข้าบัญชีส่วนพระองค์เป็นจำนวนเงินหนึ่งล้านบาทเศษ.
ที่พระพินิจธนากรอภิปรายในสภาฯ ว่า “ในเรื่องพระพิบูลย์ไอศวรรย์ถ้าท่านแพ้ท่านก็จะลาออก เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าผู้มีสติปัญญาอันน้อยไม่ทราบพระราชประสงค์ของท่านอันใดเลย” นั้น, “สติปัญญาอันน้อย” ของท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ผู้นี้บางทีจะอยู่ตรงที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงข้อนี้นั่นเอง.
แม้พระยาพหลฯ จะได้กราบบังคมทูลไว้ในเดือนสิงหาคม ๒๔๗๗ แล้วว่า “จะจัดการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้ต่อสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมสามัญปีนี้”, แต่ในทางเป็นจริงการณ์ก็มิได้เป็นไปโดยเร็วเช่นนั้น. การที่พระราชบัญญัติว่าด้วยทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ฉบับนี้ต้องล่าช้านั้น, หากกล่าวตามที่คณะผู้แทนรัฐบาลได้กราบบังคมทูลเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้า ณ ที่ประทับในอังกฤษในเดือนธันวาคม ก็คือ “การที่มิได้ร่างโดยเร็วก็เพราะเป็นพระราชบัญญัติที่ยากมาก.”
นอกจากความที่ “ยากมาก” แล้ว, เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องกันมาก็ทำให้การร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ต้องยืดเยื้อออกไปอีก, โดยในเดือนมีนาคมของปีนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติ. ในที่สุดร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงได้ยื่นเข้าสู่สภาฯ เอาในเดือนสิงหาคม ๒๔๗๘ และได้ประกาศใช้ในปีถัดมา. พระราชบัญญัติฉบับนี้มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช ๒๔๗๙”, โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๙ เป็นต้นไป.
ไม่มีใครทราบว่าพระราชบัญญัติที่จะโอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้ไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาลฉบับนี้หรือไม่ ที่ทำให้กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องปลงพระชนมชีพพระองค์เองในอีกราวสองเดือนหลังนั้น, เพราะไม่อาจทรงทนต่อแรงกดดันจากรอบข้างต่อไปได้.ใจความสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้มีดังนี้ :
“มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้ “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” หมายความว่าทรัพย์สินหรือสิทธิอันติดอยู่กับทรัพย์สิน ซึ่งมีอยู่หรือเกิดขึ้นในส่วนใดๆ แห่งราชอาณาจักร ถ้าก. ทรัพย์สินหรือสิทธิเช่นว่านั้นเป็นของพระมหากษัตริย์อยู่แล้วในเมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ และพระองค์ทรงมีสิทธิที่จะจำหน่ายสิ่งนั้นได้ก่อนครองราชสมบัติข. ทรัพย์สินหรือสิทธิเช่นว่านั้นได้ตกมาเป็นของพระองค์ในเมื่อหรือภายหลังแต่เวลาที่ครองราชสมบัติโดยทางใดๆ จากบรรดาพระราชบุพการีใดๆ หรือกับบุคคลใดๆ ซึ่งไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรนี้ค. ทรัพย์สินหรือสิทธิเช่นว่านั้นได้มาหรือซื้อมาจากเงินส่วนพระองค์“ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน” หมายความว่าทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ ซึ่งใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นต้นว่าพระราชวัง
“ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” หมายความว่าทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ นอกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าวแล้ว
มาตรา ๕ ทรัพย์สินส่วนพระองค์, ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บรรดาที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคนั้นให้อยู่ในความดูแลรักษาของสำนักพระราชวังทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นอกจากที่กล่าวไว้ในวรรคก่อน ให้อยู่ในความดูแลรักษาของกระทรวงการคลัง โดยปรึกษาคณะกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน และกรรมการอีก ๔ นายซึ่งจะได้ตั้งขึ้นโดยพระบรมราชานุมัติมาตรา ๖ รายได้จากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในความดูแลรักษาของกระทรวงการคลังตามความในมาตรา ๕ วรรค ๒ นั้น เมื่อได้หักรายจ่ายที่จ่ายตามข้อผูกพันอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รายจ่ายที่จ่ายเป็นเงินเดือน (รวมทั้งบำเหน็จบำนาญถ้ามี) เงินค่าใช้สอย เงินการจร และเงินลงทุนอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และรายจ่ายที่จ่ายเป็นเงินพระราชกุศลออกแล้ว ให้นำทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงใช้จ่ายในฐานที่ทรงเป็นประมุข
มาตรา ๗ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะโอนหรือจำหน่ายได้ก็แต่โดยได้รับพระบรมราชานุมัติเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือเพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
มาตรา ๘ ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินย่อมได้รับความยกเว้นจากการเก็บภาษีอากรทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ย่อมได้รับความยกเว้นจากการเก็บภาษีอากรเช่นเดียวกับทรัพย์สินของแผ่นดิน
ทรัพย์สินส่วนพระองค์ย่อมไม่อยู่ในข่ายแห่งความยกเว้นดังกล่าว”
เรื่องการเก็บภาษีในทรัพย์สินของพระเจ้าแผ่นดินนี้ ควรจะได้กล่าวลงไว้เสียด้วยว่ามิได้เป็นของใหม่แต่อย่างใด, หากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงมีพระราชดำริมาก่อนแล้วเป็นเวลานาน. ในคำบรรยายกฎหมายปกครองของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ในปี ๒๔๗๔ ก็ได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นตัวอย่างถึงเรื่องการเสมอภาคในหน้าที่, โดยกล่าวอ้างอิงไว้ว่า :
“ในเรื่องนี้ควรระลึกถึงพระมหากรุณาในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๖ ซึ่งได้พระราชทานลายพระราชหัตถเลขามายังเสนาบดีกระทรวงนครบาลว่าดังนี้
(สำเนาลายพระราชหัตถเลขา)
ที่ ๓/๔๙
วันที่ ๑๕ เมษายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๓๑
ถึงเจ้าพระยายมราชด้วยแต่ก่อนๆ มาการเก็บภาษีที่ดินและโรงร้าน กรมพระคลังข้างที่ยังไม่ได้เคยเสียภาษีให้กับเจ้าพนักงานสรรพากรเลย บัดนี้ฉันมาไตร่ตรองดูเห็นว่าทรัพย์สมบัติของฉันทั้งหลายที่เป็นส่วนตัว ก็เท่ากับเป็นทรัพย์สมบัติของคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่เหตุใดฉันมาเอาเปรียบแก่คนทั่วไป ซึ่งดูไม่เป็นการสมควรเลย ส่วนของของผู้อื่นจะไปเก็บเอากับเขา ของของเราจะเกียดกันเอาไว้ เพราะคนธรรมดาทั่วไปใครมีทรัพย์สมบัติเป็นที่ดินหรือโรงร้าน เมื่อถึงคราวที่เจ้าพนักงานจะเก็บภาษีเขาก็ต้องเสียภาษีให้กับเจ้าพนักงานตามส่วนมากและน้อยของทรัพย์สมบัติที่เขามีอยู่ ตัวฉันเองถ้านอกจากในทางราชการแล้ว ฉันก็ถือว่าฉันเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ทรัพย์สมบัติของฉันที่มีอยู่ก็นับว่าเป็นส่วนมาก ถ้ารัฐบาลจะแบ่งผลประโยชน์ของฉันที่ได้มาจากทรัพย์สมบัติทั้งหมดนั้นบ้าง ฉันมีความยินดีเต็มใจที่จะเฉลี่ยให้เป็นการอุดหนุนชาติและบ้านเมืองอย่างคนสามัญด้วยเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปขอให้เจ้าพระยายมราชเก็บภาษีอากรในที่ดินและโรงร้าน ซึ่งนับว่าเป็นสมบัติของส่วนตัวฉันเอง อย่างเช่นที่ได้เคยเก็บมาจากคนอื่นๆ ทั่วไปนั้น
สยามินทร์”
การที่รัฐบาลเข้าไปจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขึ้นมานี้ มีเรื่องที่ควรจะได้กล่าวถึงอยู่สองเรื่อง ซึ่งแม้จะมิได้เกี่ยวข้องกับคดียึดพระราชทรัพย์ แต่ก็เกี่ยวกับการใช้ทรัพย์สินส่วนนี้เพื่อประโยชน์แห่งตนของคนกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนถือครองอำนาจในเวลานั้น.
เรื่องแรกเป็นเรื่องอื้อฉาวที่จะเรียกกันต่อมาว่า “กรณีที่ดินพระคลังข้างที่” ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ได้ไม่นานนัก.
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้ยื่นกระทู้ถามรัฐบาลเมื่อปรากฏว่าได้มีการขายที่ดินอันเป็นของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้กับผู้ก่อการบางคนกับพรรคพวก ด้วยราคาที่ถูกอย่างผิดปรกติ. บุคคลที่ซื้อที่ดินเหล่านี้มีหลวงพิบูลสงคราม, หลวงยุทธศาสตร์โกศล, นายวิลาศ โอสถานนท์, พระดุลยธารณ์ปรีชาไวท์ เป็นต้น. ถ้าจะกล่าวตามที่ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน หรือ “ท่านชิ้น” ทรงชี้ให้เห็นไว้ในบทความเรื่อง “The Development of Siamese Politics” แล้ว, บรรดาพวกที่ซื้อที่ดินนั้นก็เป็นพวกที่สังกัดอยู่ในกลุ่มของหลวงพิบูลสงครามเสียเป็นส่วนมาก.
ผลจากการตั้งกระทู้และการเปิดอภิปรายทั่วไปคราวนี้ก็คือ รัฐบาลพระยาพหลฯ ต้องลาออกในวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๔๘๐ และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งรู้เห็นยินยอมในการซื้อขายที่ดินส่วนนี้ต้องถูกประณามอย่างหนักจนต้องลาออกในที่สุด.
เรื่องต่อมาคือเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง. ในงานเขียนสำหรับเสนอต่อรัฐบาลอังกฤษเพื่อเตรียมการสร้างขบวนการเสรีไทยในต่างแดนเรื่องเดียวกับที่อ้างข้างต้นนั้น, ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ได้ทรงกล่าวถึงการวางแผนเพื่อก้าวขึ้นมามีอำนาจของหลวงพิบูลสงครามในสมัยรัฐบาลพระยาพหลฯ ว่า, หลวงพิบูลฯ ได้จัดการส่งคนของตนเข้าควบคุมกรมกองต่างๆ ของรัฐบาล, ตลอดจนให้ทหารชั้นผู้น้อยเป็นข้าหลวงหรือตำแหน่งสูงอื่นๆ ที่ควบคุมการเงิน. และในส่วนของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่เพิ่งจัดระเบียบกันใหม่ๆ นั้น…
“สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของนายทหารชั้นผู้น้อยคนหนึ่ง, ซึ่งเขาผู้นั้นได้สั่งให้สร้างตึกใหม่ๆ ที่ใหญ่โตขึ้นมา โดยอ้างว่าเพื่อความงดงามของบ้านเมือง, และผลจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงของเขาก็คือ บรรดาตึกเหล่านั้นอยู่ได้ไม่ถึงห้าปีก็ค่อยพังลงมาทีละตึกสองตึก. การสร้างถนนหนทางและสิ่งอื่นๆ ก็ทำกันขึ้นมาในแบบเดียวกัน. อย่างไรก็ดี, ในการนี้หลวงประดิษฐ์ [มนูธรรม] และพระยาทรง [สุรเดช] กับพวกสานุศิษย์หาได้มีส่วนรู้เห็นด้วยไม่.”
ทั้งสองเรื่องนี้คือเรื่องที่พลอยตามมากับการจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ในช่วงแรก, และก็คือเรื่องที่เกิดขึ้นเสมอหลังการปฏิวัติ ไม่ว่าจะในที่ใดและสมัยใด.
กลับมาที่เรื่องการจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์-เมื่อทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ต้องอยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลังดังที่พระราชบัญญัติกำหนดไว้ดังกล่าว, กระบวนการปฏิบัติงานต่อมาของรัฐบาลก็คือ ตั้งกรรมการชุดหนึ่งขึ้นตรวจสอบบัญชี. ในการตรวจสอบนั้นเอง, คณะกรรมการชุดนี้ก็ได้พบว่าเงินหลายจำนวนถูกสั่งจ่ายไปโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ครั้งยังมิได้สละราชสมบัติ. เมื่อการตรวจสอบจบสิ้นลง, ในปี ๒๔๘๒ กระทรวงการคลังก็ได้มอบเรื่องราวให้แก่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ได้ทรงโอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปเป็นของส่วนพระองค์โดย “ไม่มีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และโดยไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ.”
อัยการยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งในวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒, โดยในวันที่ ๑๓ กันยายนปีเดียวกันนั้นก็ได้ยื่นคำร้องขอแก้คำฟ้อง. การแก้นั้นเข้าใจว่าจะแก้ในส่วนรายละเอียดของวันที่และจำนวนเงิน, เพราะเมื่อเทียบกันระหว่างความที่ปรากฏในคำฟ้องลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม กับที่ปรากฏในตอนต้นของคำพิพากษาลงวันที่ ๓๐ เดือนกันยายน ปี ๒๔๘๔ มีส่วนที่แตกต่างกันอยู่บ้าง.
เพื่อความสะดวกสำหรับในที่นี้จะขอคัดส่วนต้นของคำพิพากษาซึ่งเป็นการสรุปคำฟ้องมาลงไว้แทน, ดังนี้ :
“โจทก์ยื่นคำฟ้องลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๒ แลยื่นคำร้องขอแก้คำฟ้องในวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๔๘๒ ประมวลเป็นใจความว่า ในระหว่างที่จำเลยที่ ๑ เสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นพระชายาทรงเป็นพระบรมราชินี จำเลยได้โอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปเป็นพระนามของจำเลยทั้งสองโดยจำเลยไม่มีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และโดยไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินไทยชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๔ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คือ
ก. คอนโซลส์อังกฤษราคา ๑๐๐,๐๐๐ ปอนด์ ซึ่งกรมพระคลังข้างที่ได้ซื้อไว้แต่ครั้งในรัชชกาลที่ ๕ และเป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ตกทอดตลอดมา มีชื่อพนักงานฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงก์ กรุงลอนดอนเป็นผู้ถือไว้ในนามของกรมพระคลังข้างที่ จำเลยได้จัดการโอนให้พนักงานฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงก์ กรุงลอนดอนเป็นผู้ถือไว้ในพระนามของจำเลยเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในขณะโอน ๑,๐๘๙,๓๖๑ บาท ๗๐ สตางค์
ข. เงินทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ที่ได้ฝากไว้ณะฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงก์ กรุงลอนดอน ๕๐,๐๐๐ ปอนด์ในนามของกรมพระคลังข้างที่ จำเลยได้โอนไปฝากในพระนามของจำเลยเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในขณะโอน ๕๔๔,๖๘๐ บาท ๘๕ สตางค์
ค. เงินภาษีรายได้จากคอนโซลส์อังกฤษ ซึ่งกรมพระคลังข้างที่ได้เสียให้แก่เจ้าพนักงานประเมินภาษีของอังกฤษ แล้วภายหลังเรียกคืนมาเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นจำนวนเงิน ๑,๐๔๕ ปอนด์ ๑๔ ชิลลิงส์ ๗ เพนส์ อันเป็นเงินทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ แต่หม่อมเจ้าดำรัสดำรง เทวกุล อัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนในขณะนั้นได้นำฝากไว้ในพระนามของจำเลย ซึ่งจำเลยทรงเห็นชอบด้วย คิดเป็นเงินไทยตามอัตราในขณะฝาก ๑๑๓,๘๐๐ บาท ๗๑ สตางค์
ง. เงินทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ที่ได้ฝากไว้ณะแนชชั่นแนลซิตี้แบงก์ กรุงนิวยอร์ค จำนวน ๓๖๗,๖๕๓ เหรียญ ๘๔ เซ็นต์ ในนามกรมพระคลังข้างที่ จำเลยได้โอนไปฝากในพระนามของจำเลยเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนเวลาโอน ๑,๑๓๑,๒๔๒ บาท ๕๘ สตางค์
จ. เงินทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ที่ได้ฝากไว้ณะฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงก์ กรุงลอนดอน จำนวน ๑๑,๙๕๑ ปอนด์ ๘ ชิลลิงส์ ๘ เพ็นส์ ในนามของกรมพระคลังข้างที่ จำเลยได้โอนไปฝากในพระนามของจำเลยเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนขณะโอน ๑๓๐,๑๙๔ บาท ๓๔ สตางค์
ฉ. เงินทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ที่ได้ฝากไว้ณะชาร์เตอร์แบงก์ กรุงลอนดอน จำนวน ๒๘,๕๕๔ ปอนด์ ๓ ชิลลิงส์ ๓ เพ็นส์ ในนามของกรมพระคลังข้างที่ จำเลยได้โอนไปฝากในพระนามของจำเลยเมื่อวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕ คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนขณะโอน ๓๑๑,๐๕๘ บาท ๑๑ สตางค์
ช. เงินทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ที่ได้ฝากไว้ณะแนชชั่นแนลแบงก์ กรุงลอนดอน จำนวน ๒๙,๔๓๐ ปอนด์ ๖ ชิลลิงส์ ในนามของกรมพระคลังข้างที่ จำเลยได้โอนไปฝากในพระนามของจำเลยเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนขณะโอน ๓๒๐,๖๐๒ บาท ๔๒ สตางค์
ซ. เงินทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ที่ได้ฝากไว้ณะชาร์เตอร์แบงก์ สิงคโปร์ จำนวน ๗๕,๐๗๗ เหรียญ ๕๙ เซ็นต์ ในนามของกรมพระคลังข้างที่ จำเลยได้โอนไปฝากในพระนามของจำเลยเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนขณะโอน ๙๕,๐๓๔ บาท ๙๒ สตางค์ครั้นเมื่อจำเลยที่ ๑ ได้สละราชสมบัติในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ แล้ว จำเลยถือเอาทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้นทั้งหมดเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ของจำเลย ไม่คืนหรือใช้ให้แก่โจทก์ หรือทบวงการเมืองใดๆ ที่มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์
ฌ. ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ จำเลยได้ทำสัญญาประกันพระชนมชีพไว้กับบริษัทแมนูแฟกเจอเรอส์ไลฟ์อินชัวรันส์ โดยวิธีส่งเงินครั้งเดียวองค์ละแสนเหรียญอเมริกัน จำเลยได้เอาเงินอันเป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์จ่ายไปเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท
ญ. และในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้นเอง จำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาประกันพระชนมชีพไว้กับบริษัทเดียวกันนั้นเป็นจำนวนเงิน ๑๗,๐๐๐ ปอนด์ โดยส่งเงินครั้งเดียวเป็นจำนวนเงิน ๑๔,๗๖๑ ปอนด์ โดยจำเลยที่ ๑ ได้เอาเงินอันเป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์จ่ายไปเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นจำนวน ๑๕๙,๘๒๐ บาท ๒๖ สตางค์จำเลยได้มีคำสั่งให้บริษัทจ่ายเงินที่จำเลยควรได้รับตามสัญญาเข้าในบัญชีเงินฝากของจำเลยณะธนาคารในกรุงลอนดอนและกรุงนิวยอร์ค เป็นการกระทำให้เกิดผลโอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์มาเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ของจำเลย โดยไม่มีอำนาจอันชอบด้วยกฎหมายทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ที่จำเลยโอนและจ่ายไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ของจำเลยดังกล่าวแล้วทั้งหมดรวมเป็นจำนวน ๔,๑๙๕,๘๙๕ บาท ๘๙ สตางค์ จำเลยมีหน้าที่ต้องคืนหรือใช้ให้แก่โจทก์ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ และจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อีกร้อยละ ๗ ๑/๒ ต่อปี นับแต่วันที่โอนและจ่ายจนถึงวันฟ้อง เป็นจำนวนทั้งหมด ๒,๐๒๕,๓๕๑ บาท ๗๐ สตางค์
โจทก์ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวนนี้กับดอกเบี้ยดังกล่าวแล้วให้แก่โจทก์ และให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗ ๑/๒ ต่อปี ในต้นเงินกับดอกเบี้ยที่ค้างถึงวันฟ้องตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ”
ทั้งหมดนี้รวมเป็นเงิน ๖,๒๒๑,๒๔๗ บาท ๕๙ สตางค์.นอกจากฝ่ายโจทก์จะได้ฟ้องมีเนื้อหาดังที่คัดมานี้แล้ว, ในคำฟ้อง โจทก์ยังยื่นฟ้องอีกว่า :
“๑. ปรากฏว่าเมื่อวันที่ ๑๑ เดือนนี้ จำเลยที่ ๑ ได้โอนขายที่ดินโฉนดที่ ๔๕๓๒๐ อำเภอดุสิต พระนคร ของจำเลยให้แก่ ม.จ.รัตยากร วิสุทธิ ไปเป็นเงิน ๔,๐๐๐ บาท
๒. และเมื่อวันที่ ๑๒ เดือนเดียวกัน จำเลยที่ ๑ ให้ผู้ไปขอกรมที่ดินและโลหกิจ พระนครและธนบุรี ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินอีก ๘ แปลง ตามบัญชีที่ได้แนบมาข้างท้ายนี้ ให้แก่ ม.จ.อุปลีสาณ ชุมพล ราคา ๑๒๘,๓๒๐ บาท
๓. การกระทำของจำเลยดังกล่าวในฟ้อง เป็นการตั้งใจโอนของจำเลยไปให้พ้นอำนาจศาล ซึ่งจะออกบังคับเอากับจำเลย และเพื่อฉ้อโกงโจทก์ และนอกนั้นตัวจำเลยก็อยู่นอกจากอำนาจศาล
๔. เพราะฉะนั้นเป็นการจำเป็นที่โจทก์ต้องร้องขอต่อศาล เพื่อจัดการให้มีวิธีคุ้มครองตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๕๔ มิให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่โจทก์ โดยสั่งให้ยึดทรัพย์หรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยไว้ทั้งหมด รวมทรัพย์ของบุคคลภายนอก ซึ่งครบกำหนดที่จะชำระแก่จำเลยด้วย
๕. และโดยที่มีกรณีฉุกเฉิน ถ้าศาลจะดำเนินการพิธีพิจารณาภาควิสามัญ จะเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่โจทก์มากมาย โดยจำเลยกำลังพยายามจะโอนทรัพย์ของจำเลยเอง และจำเลยอยู่นอกอำนาจศาล ฉะนั้นขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองตามคำขอของโจทก์ข้อ ๔ โดยมิชักช้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา ๒๖๖-๒๖๗ นั้น”
คำร้องให้ยึดทรัพย์จำเลยโดยเกรงว่าจำเลยจะทำการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินนี้ ทางศาลแพ่งอันมีพระสุทธิอรรถนฤมนตร์ (สุข เลขยานนนท์) เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งไม่เห็นด้วย จึงมีคำสั่งให้ยกฟ้องคำร้องเสีย. อีก ๓ วันต่อมาทางฝ่ายโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอยึดทรัพย์จำเลยอีกครั้งหนึ่ง โดยในคราวนี้ได้ยื่นเป็นคำร้องธรรมดา แต่ศาลแพ่งก็สั่งให้ยกคำร้องของโจทก์อีก. โจทก์จึงอุทธรณ์คำสั่งของศาลแพ่ง ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษาให้กลับคำสั่งของศาลแพ่ง.
เมื่อศาลสั่งอนุญาตตามคำร้องของโจทก์เช่นนั้น, นาวาอากาศเอกหลวงกาจสงคราม (เทียน เก่งระดมยิง) รัฐมนตรีผู้หนึ่งในคณะรัฐบาลเวลานั้น และมีตำแหน่งเป็นกรรมการตรวจรับงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก็นำเจ้าหน้าที่กองหมายและเจ้าหน้าที่รัฐบาลเข้าวังศุโขทัย. และนับแต่วาระนั้นเป็นต้นมาสำนักงานผลประโยชน์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็ตกอยู่ในความควบคุมของกองหมายโดยคำสั่งศาลตลอดมาจนถึงวันพิพากษาคดี.
คุณหญิงมณี สิริวรสาร กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า :
“เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยึดทรัพย์ของจำเลยจนหมดสิ้นแล้ว ฝ่ายจำเลยก็หมดกำลังทรัพย์ทางกรุงเทพฯ ที่จะต่อสู้คดีอีกต่อไป และเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า พระสุทธิอรรถฯ ผู้พิจารณาคดีนี้ด้วยความบริสุทธิ์ใจและเป็นอิสระตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์เสียสองครั้งแล้วก็มีอันเป็นไป คือถูกย้ายไปเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาชั่วระยะหนึ่ง แล้วก็ถูกคำสั่งให้ปลดออกจากราชการในเวลาต่อมาโดยปราศจากความผิดใดๆ…”
ฝ่ายจำเลยจะหมดกำลังทรัพย์อย่างที่คุณหญิงมณีกล่าวหรือไม่ เราไม่ทราบ, แต่ความจริงมีอยู่ว่าฝ่ายจำเลยสู้คดี และสู้ตลอดมาจนศาลพิพากษา. ในการต่อสู้คดีนี้ฝ่ายจำเลยมีหม่อมเจ้าอุปลีสาณ ชุมพล เป็นตัวแทนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมีมิสเตอร์ V.H. Jakes ชาวอังกฤษ ซึ่งเปิดสำนักงานทนายความอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นทนายความ. ส่วนทางอังกฤษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงปรึกษาวิธีการต่อสู้คดีกับมิสเตอร์ R.D. Craig ที่ปรึกษากฎหมายของพระองค์ และร่วมบริษัทว่าความบริษัทเดียวกันกับมิสเตอร์เจกส์ ด้วย. ไม่ช้าไม่นานต่อมาที่ปรึกษากฎหมายของพระองค์ก็มายังกรุงเทพฯ เพื่อร่วมมือกับทนายที่นี่ในประเด็นสำคัญบางประเด็น แล้วนำไปกราบบังคมทูลรูปคดีแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่อังกฤษ.
คำให้การต่อสู้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ตามที่ปรากฏในคำพิพากษา มีดังนี้ :
“จำเลยทั้งสองให้การต้องกันรับว่า โจทก์มีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๔๗๙ และจำเลยที่ ๑ ได้เคยเสวยราชสมบัติตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๘ และได้สละราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ จำเลยที่ ๒ เป็นพระราชชายาของจำเลยที่ ๑ และได้ทรงเป็นพระบรมราชินีในระหว่างที่จำเลยที่ ๑ เสวยราชสมบัติ ข้ออ้างของโจทก์นอกจากที่กล่าวแล้วจำเลยขอปฏิเสธนอกจากนี้จำเลยทั้ง ๒ ให้การต่อสู้ว่า
๑. การกระทำที่โจทก์ฟ้องได้กระทำในระหว่างที่จำเลยที่ ๑ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ ๑ ในขณะที่เป็นพระมหากษัตริย์ไม่ได้ ฉะนั้นโจทก์จะมาฟ้องคดีนี้ไม่ได้
๒. หากได้มีการกระทำผิดดังโจทก์ฟ้องซึ่งจำเลยขอปฏิเสธ ก็เป็นความผิดในลักษณะลาภมิควรได้ หรือมิฉะนั้นต้องถือว่าเป็นความผิดในลักษณะละเมิด ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ
๓. โจทก์อ้างว่าผู้ครอบครองทรัพย์สินรายพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายได้ถูกจำเลยรบกวนและแย่งในการปกครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ที่อ้างว่ามีสิทธิครอบครองทรัพย์สินที่ว่านี้มิได้นำความขึ้นฟ้องร้องยังโรงศาลภายใน ๑ ปี ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ
๔. บรรดาทรัพย์สินต่างๆ ที่โจทก์อ้างว่าได้โอนหรือฝากไว้ในพระนามของจำเลย ถ้ามีจริงจำเลยก็ได้ครอบครองโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลา ๕ ปีกว่า จำเลยจึงย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ว่านี้ตามกฎหมายแล้วก่อนโจทก์นำคดีขึ้นฟ้องร้อง
๕. หากจะถือว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยได้ และได้มีการโอนและใช้ทรัพย์สินตามที่กล่าวในฟ้อง การโอนและการใช้นี้เป็นไปตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงานรัฐบาล คำสั่งนี้ย่อมผูกมัดโจทก์ จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ
๖. แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ได้เป็นผู้จัดการโอนและใช้ทรัพย์สินดังโจทก์อ้าง จำเลยที่ ๑ ก็มีอำนาจเต็มบริบูรณ์ที่จะจำหน่ายทรัพย์สินนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย
๗. สำหรับเงินภาษีรายได้จากคอนโซลส์อังกฤษ ซึ่งเรียกคืนมาได้ตามกฎหมายอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษยอมคืนเพียงแต่ให้จำเลยที่ ๑ เองเท่านั้น จะไม่ยอมคืนให้แก่รัฐบาลแห่งประเทศไทย หรือโจทก์ หรือบุคคลอื่นใดเลย โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย และหามีสิทธิที่จะฟ้องเรียกเงินนี้ไม่
๘. หากจะถือว่าจำเลยได้จัดการโอน และเข้าครอบครองและรับทรัพย์ที่กล่าวในฟ้องโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ก็ดี (ซึ่งจำเลยขอปฏิเสธ) และฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ จำเลยก็ได้กระทำเช่นนั้นโดยสุจริต เชื่อว่ามีสิทธิตามกฎหมายที่จะทำได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเพียงแต่ส่วนแห่งทรัพย์สินที่ยังคงมีอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง และจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบเสียดอกเบี้ยเลย
๙. จำเลยที่ ๒ ต่อสู้อีกข้อหนึ่งว่า จำเลยที่ ๒ มิได้เกี่ยวข้องกับการจัดการโอนทรัพย์สินตามคำฟ้องของโจทก์แต่อย่างใดๆ เลย ทั้งมิได้รับทรัพย์สินใดๆ ซึ่งจำเลยไม่ชอบที่จะได้รับ”
คดีนี้ใช้เวลาอยู่ ๒ ปีเศษ. ในวันที่ ๓๐ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ศาลก็ได้ตัดสินให้พระองค์ทรงแพ้คดี; พระองค์จะต้องคืนเงินจำนวน ๖,๒๒๑,๒๔๗.๕๙ บาทให้กับพระคลังข้างที่.
แต่พระองค์ก็ไม่อาจทรงทราบได้ถึงผลการตัดสิน เพราะก่อนหน้านั้น ๔ เดือน, ในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พระองค์ได้เสด็จสวรรคตไปแล้วในประเทศอังกฤษ, คงเหลือแต่เพียงสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี จำเลยที่ ๒ เพียงพระองค์เดียว…
อีก ๓๒ ปีให้หลังนับแต่วันที่ศาลได้ตัดสินให้ทรงแพ้คดี, สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้พระราชทานสัมภาษณ์แก่นักข่าว, ดังปรากฏในหนังสือ เบื้องแรกประชาธิปตัย ว่า :
“ก่อนที่จะเสด็จไปอังกฤษในหลวงจึงทำหนังสือมอบให้ว่า ให้เอาเงินที่สะสมไว้นั้นมาทดแทนที่จะทรงเบิกเงินแผ่นดินที่มีอยู่ในเมืองนอกเป็นการชดเชยกัน เงินที่อยู่ในเมืองนอกนั้นเป็นเงินกองกลางสำหรับพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์จะเบิกมาใช้ได้ ที่ในหลวงต้องทรงทำเช่นนี้ก็เพราะไม่ทราบว่าจะต้องประทับอยู่นานเท่าใด เงินที่จะเอาติดตัวไปก็น้อย และเมื่อไปแล้วจะให้ส่งไปก็ส่งไม่ได้ เงินในเมืองนอกที่ว่านี้มีมาแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้นเงินส่วนของวังศุโขทัยที่ว่านี้ก็เป็นเงินที่ใช้ทดแทนกันนั่นเอง แต่แล้วก็กลายเป็นเรื่องถึงฟ้องร้องกันในเวลาต่อมา ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นแล้วเอกสารของในหลวงที่ทรงไว้เกี่ยวกับการทดแทนกันก็หากันไม่พบ ไม่มีใครรู้ว่ามันหายไปไหน”
ด้วยเวลาที่ผ่านไปหลายสิบปีบางทีจะทำให้ทรงจำรายละเอียดคลาดเคลื่อนไปบ้าง, กล่าวคือ, เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปอังกฤษในช่วงปลายปี ๒๔๗๖ นั้น ได้ทรงทยอย “เบิกเงินแผ่นดินที่มีอยู่ในเมืองนอก” มาก่อนหน้านั้นแล้วถึง ๑๘ เดือน, หาใช่ “ที่จะทรงเบิก” ไม่.
อย่างไรก็ตาม, เหตุผลข้อนี้ก็มิได้มีการแถลงในศาล-ไม่ว่าจะโดยพระองค์เองหรือโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. น่าเสียดายว่า, ไม่มีใครรู้ว่าเอกสารของในหลวงหายไปไหน, หาไม่การณ์ก็คงจะไม่เป็นไปถึงเช่นนี้. กระนั้นก็ดี, แม้ทางฝ่ายโจทก์จะมิได้เห็นและทางฝ่ายจำเลยเองก็มิได้อ้างถึงเอกสารนี้, หากการปฏิบัติตามวิธีกฎหมายก็มีผลเช่นกัน, นั่นก็คือ, รัฐบาลได้ยึดวังศุโขทัยและทรัพย์สินที่ประเมินราคารวมกันได้ราว ๖ ล้านไว้เป็นการทดแทนเงินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโอนจากบัญชีพระคลังข้างที่ไปไว้ในพระนามของพระองค์.

เมื่อศาลได้ตัดสินให้ทรงแพ้คดีแล้ววังศุโขทัยซึ่งทางรัฐบาลตีราคาไว้ ๓ ล้านบาทก็ถูกยึด, และการ “ริบทรัพย์” อื่นๆ เพื่อนำไปขายทอดตลาดก็ตามมา, ดังประกาศต่อไปนี้ :
(ครุฑ)ประกาศขายทอดตลาดกองบังคับคดีทางแพ่ง
เจ้าพนักงานบังคับคดีจะขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยในคดี ระหว่างกระทรวงการคลัง โจทก์ สมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่ ๑ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีที่ ๒ จำเลย ตามคำสั่งศาลแพ่ง ที่กองบังคับคดีทางแพ่งกระทรวงยุตติธรรม ตั้งแต่วันที่ ๘ ถึงวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๔๘๕ เริ่มขายเวลา ๙.๓๐ นาฬิกา ทุกวัน.ทรัพย์ที่จะขายคือ :- สิ่งของ ทอง นาก เงิน รูปพรรณประดับเพ็ชร์ พลอย มรกต ทับทิม เช่น แหวน เข็มขัด หีบบุหรี่ ซองบุหรี่ พาน โถปริก กะโถน เชี่ยนหมาก เป็นต้น กับสิ่งของอื่นๆ อีกหลายอย่าง รวมทั้งหุ้นบริษัทรถไฟแม่กลองจำกัด หุ้นบริษัทไฟฟ้าไทยจำกัด หุ้นบริษัทไทยประกันภัยจำกัด ซึ่งจะขายในวันที่ ๑๘ มกราคม ผู้ใดต้องการทราบรายละเอียดจะขอดูได้ที่กองบังคับคดีทางแพ่งในเวลาราชการ
ประกาศมา ณ วันที่ ๒๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔
สารกิจปรีชาหัวหน้ากองบังคับคดีทางแพ่ง
ประกาศขายทอดตลาดฉบับนี้ทางกองบังคับคดีทางแพ่งได้ส่งให้หนังสือพิมพ์ ๓ ฉบับ คือ ข่าวภาพ, ศรีกรุง และ ประชาชาติ, โดยกำหนดให้ ข่าวภาพ ลงโฆษณาในวันที่ ๒๕, ๒๖, ๒๗ ธันวาคม, ศรีกรุง ลงวันที่ ๒๙, ๓๐, ๓๑ ธันวาคม, ส่วน ประชาชาติ จะลงในฉบับหลังปีใหม่ไปแล้ว คือฉบับวันที่ ๑, ๒ และ ๓ มกราคม.
นอกจากประกาศทางสาธารณะนี้แล้ว ทางกองบังคับคดีทางแพ่งยังได้จัดทำบัญชีรายการสิ่งของที่จะขายโดยละเอียดด้วย. บัญชีนี้ได้ส่งไปยังบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง คือทางฝ่ายตัวแทนโจทก์มีหลวงกาจสงคราม, นายแนบ พหลโยธิน, พระยาชาติเดชอุดม, และนายร้อยโทขุนนิรันดรชัย ผู้ดูแลสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, เป็นต้น, ส่วนทางฝ่ายจำเลยมี ม.จ.อุปลีสาณ ชุมพล และพระยาศรีวิสารวาจา ผู้จัดการมรดกของจำเลย.
ตามบัญชีนี้นอกจากหุ้นบริษัทจำนวน ๖ รายการแล้ว ก็มีทรัพย์สินต่างๆ อีก ๑๔ หีบ แบ่งเป็น ๒๘๘ รายการ. ทรัพย์สินทั้งหมดได้แบ่งขายตามบัญชี, ดังนี้ :
ขายวันที่ ๘-๙-๑๐ มกราคม รวม ๙๕ รายการวันที่ ๑๑-๑๒-๑๓-๑๔ รวม ๑๐๙ รายการวันที่ ๑๕-๑๖-๑๗ รวม ๘๔ รายการวันที่ ๑๘ ขายหุ้นบริษัทจำนวน ๖ รายการ, รวม ๒,๕๐๗ หุ้น, คิดเป็นเงิน ๒๐๕,๕๖๐ บาท.
ตรงนี้จะต้องชี้แจงว่า การแบ่งของออกเป็น ๒๘๘ รายการนั้น มิได้หมายความว่าจะมีวัตถุเป็นจำนวนเท่ากัน; บางรายการประกอบด้วยของมากกว่าหนึ่งชิ้น, เช่นเป็นสร้อยจำนวน ๑๓ สาย หรือแหวน ๑๔ วง, เป็นต้น. อนึ่ง, บรรดาของที่จะขายนี้ล้วนเป็นสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น.การที่จะคัดรายการทรัพย์สินที่ถูกขายทอดตลาดทั้งหมดมาลงไว้ในที่นี้ เป็นเรื่องที่เกินวิสัย เพราะนอกจากจะมีจำนวนมากแล้ว, แต่ละรายการก็ยังมีคำบรรยายลักษณะไว้สั้นบ้างยาวบ้างอีกด้วย. อย่างไรก็ตาม, เพื่อให้เป็นตัวอย่าง, ในที่นี้จะขอคัดมาแต่ ๑๐ รายการแรกที่ประกาศขายในวันที่ ๘ มกราคม, ดังนี้ :
“๑. ขันทองลายพระพุทธรูป หนักประมาณ ๖๕๕ กรัม ๑ ขัน, ๒. พานลาวทอง หนักประมาณ ๕๔๕ กรัม ๑ พาน, ๓. กะโถนทองคำลงยาปากกะจับ หนักประมาณ ๒๖๕ กรัม ๑ ใบ, ๔. ขันทองคำลงยามีพานทองคำลงยารอง หนักประมาณ ๔๘๕ กรัม ๑ ที่, ๕. กล่องหมากทองคำหลังมีตราจุลจอมเกล้า จ.ป.ร.ประดับเพ็ชร์ ๑ ดวง หนักประมาณ ๘๘ กรัม รวม ๒ สิ่ง, ๖. พานทองคำลงยามีโถปริก ๗, ปริกทองคำลงยา ๑ หนักประมาณ ๑,๑๗๕ กรัม ๑ ที่, ๗. พานทองคำลงยากลีบบัวลายเทพพนม หนักประมาณ ๑,๒๘๕ กรัม ๑ พาน, ๘. หีบบุหรี่ทองคำรูปสี่เหลี่ยมมีประดับพลอยสีต่างๆ ทั่วทั้งหีบ มีเท้าสี่เท้า หนักประมาณ ๑,๔๘๐ กรัม ๑ หีบ, ๙. ซองบุหรี่ทองคำฝาด้านหนึ่งฝังเพ็ชร์ทั้งลูก ๔ เม็ด กับทับทิมเป็นขอบรอบ จารึกว่า “สุขุมาลย์มารศรี” หนักประมาณ ๑๖๓ กรัม ๑ ซอง, ๑๐. กฤชด้ามและฝักทองคำด้ามเป็นหัวนกหนักประมาณ ๓๖๕ กรัม ๑ เล่ม ฯลฯ”
อย่างไรก็ตาม, ในชั้นสุดท้ายการขายทอดตลาดก็มิได้เกิดขึ้น. หลังจากที่หนังสือพิมพ์ข่าวภาพ และศรีกรุง ได้ลงประกาศแจ้งความติดต่อกันมาหลายวันแล้วนั้นเอง ทางกองบังคับคดีฯ ก็มีหนังสือลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๘๔ ขอให้ศรีกรุงระงับการลงแจ้งความในวันที่ ๓๑ ธันวาคมเสีย และให้หนังสือพิมพ์ประชาชาติที่จะรับช่วงลงแจ้งความในวันที่ ๑, ๒, และ ๓ มกราคม ยกเลิกการลงแจ้งความนั้นเสียทั้ง ๓ วัน.ในวันที่ ๕ มกราคม ๒๔๘๕ ทางกองบังคับคดีทางแพ่งก็ออกประกาศตามมาอีกฉบับหนึ่ง, ดังนี้ :
(ครุฑ)ประกาศกองบังคับคดีทางแพ่ง
ด้วยเจ้าพนักงานบังคับคดีจะงดการขายทอดตลาดทรัพย์ในคดีระหว่าง กระทรวงการคลัง โจทก์ สมเด็จพระปกเกล้าฯ จำเลย ซึ่งกำหนดขายเริ่มแต่วันที่ ๘ มกราคม ๒๔๘๕ เป็นต้นไปนั้น ไว้จนกว่าจะได้ประกาศให้ทราบภายหลังประกาศมา ณ วันที่ ๕ มกราคม ๒๔๘๕
สารกิจปรีชาหัวหน้ากองบังคับคดีทางแพ่ง
นับแต่วันที่มีประกาศงดการขายเป็นต้นมาก็มิได้มีประกาศใดตามหลังมาอีก. นอกจากจะสันนิษฐานเอาว่าประเทศกำลังอยู่ในภาวะสงครามแล้ว, เราก็ไม่ทราบเหตุผลอื่นใดอีกที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจไม่นำทรัพย์สินเหล่านั้นมาขายทอดตลาด. อย่างไรก็ตาม, ในเวลานั้นวังศุโขทัยก็ตกเป็นของรัฐแล้ว. ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๔๘๕ เป็นต้นไปกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นใหม่ก็ได้ขอเช่าวังแห่งนี้จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ในอัตราเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท) เพื่อใช้เป็นที่ทำการ จนกระทั่งย้ายออกไปในอีกแปดปีต่อมา.

จากวันที่ศาลได้พิพากษาให้ทรงแพ้คดีมาจนสิ้นสงคราม, เหตุการณ์ก็เปลี่ยนแปลงไป.ในหนังสือเจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ ของเขา, “นายหนหวย” ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า :
“วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๘๙ ขณะนั้นเป็นรัฐบาลของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐบุรุษอาวุโสได้บันดาลให้เกิดสัญญาประนีประนอมประวัติศาสตร์ขึ้นระหว่างรัฐบาลกับจำเลยที่ ๒ ในคดีที่รัฐบาลเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคือสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และกองมรดกผลประโยชน์ทั้งหลายของเจ้าฟ้าประชาธิปก มีสาระสำคัญว่า บรรดาทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหลายที่ผูกพันกันอยู่นั้น เป็นอันให้เลิกแล้วต่อกัน รัฐบาลได้มาแล้วเท่าไรก็เอาเท่านั้น
นอกจากนี้นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน รัฐบุรุษอาวุโสยังได้แสดงความจริงใจเปิดเผยต่อบุคคลหลายคนและหนังสือพิมพ์ว่า จะคืนวังศุโขทัยที่ตกเป็นของรัฐตามคำพิพากษาคืนให้แก่จำเลยที่ ๒ ซึ่งยังดำรงพระชนมชีพอยู่ ยิ่งไปกว่านี้ในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน นายปรีดี พนมยงค์ ดำริจะอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกลับคืนประเทศไทย ได้มีการติดต่อเป็นทางการสมานรอยร้าวในอดีตกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเป็นที่เรียบร้อยและรู้กันทั่วไป”
อันที่จริง, นอกจากเรื่องจะอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับเมืองไทยแล้ว นายปรีดียังมีปรารถนาให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงเข้ามาเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คณะใหม่ด้วย. อย่างไรก็ตาม, ความพยายามของนายปรีดี พนมยงค์ ก็ไม่ประสบผล. การรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๐ โดยพลโทผิน ชุณหะวัน กับพรรคพวกทำให้นายปรีดีต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ และไม่มีโอกาสกลับมามีบทบาททางการเมืองอีก.
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับถึงประเทศไทยในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม. และหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ย้ายออกไปในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๓ แล้ว, ทางราชการก็ได้ถวายวังศุโขทัยคืนแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเพื่อเป็นที่ประทับต่อไป.
การที่รัฐบาลถวายวังศุโขทัยคืนนี้มิได้มีผู้ใดคัดค้าน. อย่างไรก็ตาม, อีกหลายสิบปีต่อมาคุณหญิงมณี สิริวรสาร ได้ “บันทึก” สถานะของวังนี้ไว้โดยตั้งใจจะให้ “เป็นประวัติศาสตร์” ที่คนทั่วไปพึงได้รับรู้, ว่า :
“ดิฉันต้องขอบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ว่า ตามพระราชพินัยกรรมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ซึ่งได้ทรงยกร่างไว้ก่อนเสด็จฯ ออกจากประเทศไทยนั้น พระองค์ท่านได้ทรงยกวังศุโขทัยซึ่งเป็นที่ประทับและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ มอบให้พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ องค์เดียวอย่างสิ้นเชิง โดยมีเงื่อนไขว่า ให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงมีสิทธิประทับได้ตลอดพระชนมชีพ เมื่อสวรรคตแล้วให้วังศุโขทัยตกเป็นของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ หรือทายาทของพระองค์เจ้าจิรศักด์ฯ โดยสิทธิขาด”
หากจะให้ “ประวัติศาสตร์” ชัดเจนยิ่งขึ้น เราก็ต้องขยายความว่า, “ทายาทของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ” ก็คือ “หม่อมมณี” หรือที่จะรู้จักกันในเวลาต่อมาในนามของคุณหญิงมณี สิริวรสาร นั่นเอง!

หลังจากที่เสด็จกลับมาประทับ ณ วังศุโขทัยแล้ว สิ่งต่อมาที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีต้องทรงกระทำก็คือ จัดการแบ่งพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์นั้นให้เป็นไปตามพระราชพินัยกรรมที่ทรงทำไว้แต่ก่อน. ผู้ที่อยู่ในฐานะทายาทมีส่วนแบ่งในพระราชทรัพย์นั้นคือสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี กับพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระราชโอรสบุญธรรม. อย่างไรก็ตาม, ในเวลานั้นพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ ได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว เพราะฉะนั้นผู้ที่จะมีส่วนแบ่งในพระราชทรัพย์นั้นคือ “หม่อมมณี”.
เราไม่ทราบว่าในการทำพระราชพินัยกรรมนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายท่านใด หรือว่าทรงกำหนดไปตามพระราชดำริของพระองค์เอง, แต่การณ์ก็เป็นไปอย่างที่หม่อมเจ้าอุปลีสาณ ชุมพล ผู้จัดการพระราชมรดกนั้นทรงกล่าว คือ พระราชพินัยกรรมส่วนมากเป็นโมฆะ เพราะขัดกับหลักกฎหมายไทย. ในชั้นสุดท้ายท่านผู้จัดการพระราชมรดกก็ต้องใช้วิธีแบ่งพระราชทรัพย์ทั้งหมด-เว้นแต่วังศุโขทัย-ออกเป็นสองส่วน และใช้วิธีการจับสลาก.
คุณหญิงมณีเล่าถึงการแบ่งพระราชทรัพย์ในคราวนั้นไว้ดังนี้ :
“เมื่อไปถึงวังศุโขทัยและก่อนที่จะมีการจับสลากท่านอุปลีสาณได้พาดิฉันไปในห้องที่ท่านทรงทำงานอยู่ และยื่นเอกสารที่เป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างสมเด็จฯ และดิฉัน ให้ดิฉันลงนามในสัญญาซึ่งมีข้อความว่า ในการแบ่งพระราชมรดกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ระหว่างสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีและดิฉัน ซึ่งเป็นผู้แทนของพระองค์จิรศักดิ์ฯ นั้น ดิฉันให้สัญญาว่าจะยอมทำตามเงื่อนไขของสัญญา…ที่ดินที่ต้องจับสลากมีอยู่ด้วยกัน ๒๒ แปลง แต่เหลือ ๒๐ แปลง เพราะเหตุว่ามี ๒ แปลงที่สมเด็จฯ ไม่มีพระราชประสงค์ให้จับสลาก คือแปลงที่เป็นที่ดินและสิ่งก่อสร้างอยู่หลังวังศุโขทัย ซึ่งมีโกดัง ๒ หลังสำหรับเก็บของ มีที่พักของพระญาติบางองค์และบริวารของสมเด็จฯ อาศัยอยู่ และเป็นที่ดินที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา และเนื่องด้วยดิฉันเองก็อยากได้ที่ดินเปล่าไว้ปลูกบ้าน สมเด็จฯ จึงทรงมีรับสั่งให้แลกเปลี่ยนกัน คือดิฉันได้รับที่ดินเปล่า ๑๐ ไร่ที่ถนนเพลินจิตแทนที่ดินแปลงนี้ ซึ่งสมเด็จฯ ก็ทรงพอพระทัยมากที่ที่ดินติดกับวังศุโขทัยได้มาเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์
ส่วนอีก ๒๐ แปลงนั้นหม่อมเจ้าอุปลีสาณทรงเตรียมสลากไว้ในพานทองและทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จฯ ทรงจับก่อน ๑๐ ครั้ง เมื่อทรงจับแล้วสลากที่เหลือก็เป็นของดิฉัน โฉนดที่ดินที่มีราคาแพงที่สุดเป็นที่ดินถนนทรงวาด ตำบลราชวงศ์ มีที่ดินประมาณสามไร่ ซึ่งสมเด็จฯ ทรงจับได้ และทุกคนที่วังศุโขทัยก็แสดงความดีใจที่สมเด็จฯ ทรงจับสลากที่ดินที่ดีที่สุดตรงถนนทรงวาดไว้ได้ ส่วนดิฉันได้สลากที่ดินที่มีค่ารองลงมา เป็นที่ดินเจ็ดไร่ครึ่ง ซึ่งเป็นโรงสีและตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีค่าและราคาไล่เลี่ยกับที่ถนนทรงวาดที่ดินอีกแปลงหนึ่งที่ถือว่ามีราคามาก เป็นที่ดินมีตึกแถวที่คลองหลอด มีเนื้อที่ ๒๐ ไร่ ตัดแบ่งคนละครึ่ง ซึ่งสมเด็จฯ ทรงได้ ๑๐ ไร่ ที่อยู่ข้างโรงเรียนราชินี ส่วนดิฉันได้ ๑๐ ไร่ ที่ติดกับบ้านหม้อ ต่อไปเป็นตึกใหญ่สองแห่ง สมเด็จฯ ทรงจับได้ตึกใหญ่หลังแรกที่ถนนเพชรบุรี ส่วนดิฉันได้ตึกที่ถนนพญาไท ทั้งสองตึกนี้เจ้าของเดิมเป็นขุนนางที่ได้นำมาจำนองไว้กับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในที่สุดก็หลุดและตกมาเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ การจับสลากที่ดินได้ดำเนินไปจนจบสิ้นในเวลาไม่ถึงชั่วโมง
ต่อมาเป็นเรื่องของการแบ่งสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสิ่งของทั้งหมดเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในวังศุโขทัยแต่เดิม อาทิ เครื่องเรือน ถ้วยชาม พระพุทธรูป กระถางต้นไม้ ของกระจุกกระจิก และของขวัญที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายในหลวงรัชกาลที่ ๗ ท่านผู้จัดการผลประโยชน์ได้วางสิ่งของเหล่านี้เรียงรายไว้ แล้วทูลเชิญสมเด็จฯ ให้ทอดพระเนตร ถ้าทรงมีพระราชประสงค์สิ่งใดแล้วก็ทรงหยิบออกไปวางไว้ทางหนึ่ง แล้วให้ดิฉันเลือกเช่นเดียวกัน ส่วนที่เหลือก็ให้พ่อค้าจีนหลายรายมาจากบ้านหม้อมาคอยตีราคาประมูลกัน ใครประมูลได้ราคาสูงก็เป็นเจ้าของไป
วันหนึ่งๆ เราได้เงินสดจากการจำหน่ายสิ่งเหล่านี้เป็นจำนวนมากพอใช้ พอจบแล้วสมเด็จฯ และดิฉันก็รับแบ่งไปคนละครึ่ง ข้าวของในวังศุโขทัยมีมากมาย และการแบ่งด้วยวิธีนี้ได้ดำเนินไปถึงสามวันเต็มๆ…เป็นเวลาสามวันติดๆ กันที่ดิฉันนั่งรถออกจากบ้านไปดีมาดีพร้อมกับขุนเจนฯ กับเด็กรับใช้อีกหนึ่งคน และทุกวันเราก็ขนของที่เลือกไว้ใส่รถกลับบ้าน…”
นั่นคือสามวันสุดท้ายของเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชทรัพย์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะจากนั้นมาก็มิได้มีพระราชทรัพย์ใดอยู่ในพระนามของพระองค์อีก.